โรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา

โรงเรียนมหาวชิราวุธ  จังหวัดสงขลา
ครูสอนว่า จงรักษาความดีให้เหมือนเกลือที่รักษาความเค็ม

ความรู้อยู่ไหน

ค้นคว้าหาไปหยิบใส่สมอง
โลกเราแลกว้างยิ้มอย่างพี่น้อง
หยิบกระเป๋าทอดน่อง
ย่างเท้าก้าวเดิน

วันเสาร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

การเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน Brain Based Learning

การเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน Brain Based Learning

BBL ( Brain Based Learning ) หมายถึง การเรียนรู้ ที่ใช้โครงสร้างและหน้าที่ของสมองเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ โดยไม่สกัดกั้นการทำงานของสมอง แต่เป็นการส่งเสริมให้สมองได้ปฏิบัติหน้าที่ให้สมบูรณ์ ที่สุด ภายใต้แนวคิดที่ว่า ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ ทุกคนมีสมองพร้อมที่จะทำเรียนรู้มาตั้งแต่กำเนิด
BBL (Brain Based Learning) เป็นการ การจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับพัฒนาการของสมองแต่ละช่วงวัย เป็นการนำองค์ความรู้เรื่องสมองมาใช้เป็นฐานในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ โดยมีที่มาจากศาสตร์การเรียนรู้ 2 สาขาคือ

1.ความรู้ทางประสาทวิทยา (Neurosciences) ซึ่งอธิบายที่มาของความคิดและจิตใจของมนุษย์โดยเฉพาะในด้านที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กับทักษะการเรียนรู้ อันได้แก่ ความสามารถในการเรียนรู้ ความจำ ความเข้าใจ และความชำนาญ โดยผ่านทฤษฎีว่าด้วยการทำงานของสมองเป็นสำคัญ
2.แนวคิด ทฤษฎีการเรียนรู้ (Learning Theories) ต่างๆ ที่อธิบายเกี่ยวกับการเรียนรู้ของสมองมนุษย์ และกระบวนการเรียนรู้เกิดขึ้นและมีพัฒนาการอย่างไร

การบูรณาการองค์ความรู้ทั้ง 2 สาขาเข้าด้วยกันทำให้กระบวนการจัดการเรียนรู้ตั้งอยู่บนฐานของการพิจารณาว่าปัจจัยใดบ้างที่จะทำให้สมองมีการเปลี่ยนแปลงสมองมีปฏิกิริยาตอบรับต่อการเรียนการสอนแบบใด และอย่างไร ซึ่งทั้งหมดนี้นำไปสู่การจัดกิจกรรมระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน การจัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ และที่สำคัญคือการออกแบบและใช้เครื่องมือเพื่อการเรียนรู้ต่างๆ โดยเน้นว่าต้องทำให้ผู้เรียนสนใจ เกิดการเรียนรู้ ความเข้าใจ และการจดจำตามมา และนำไปสู่ความสามารถในการใช้เหตุผล เข้าใจความเชื่อมโยงสัมพันธ์ในทุกมิติของชีวิต

รู้จักสมองของเรา
สมองที่อยู่ภายในกะโหลกศีรษะของเรามีลักษณะเป็นรูปครึ่งวงกลมคว่ำ มีแกนตรงกลางยื่นยาวออกมาจากครึ่งทรงกลมด้านล่างลงไปถึงท้ายทอย เรียกว่า ก้านสมอง (brainstem)ส่วนที่ยื่นต่อลงมาจากท้ายทอย ทอดตัวเป็นลำยาวภายในช่องตลอดแนวกระดูกสันหลัง เรียกว่า ไขสันหลัง (spinal cord)

สมองส่วนสำคัญที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเรียนรู้ คือส่วนครึ่งวงกลมที่อยู่ภายในครึ่งบนของกะโหลกศีรษะ มีชื่อเรียกว่า ซีรีบรัม (cerebrum) หรือ สมองใหญ่ ที่ด้านบนกลางกระหม่อมมีร่องใหญ่มากแบ่งครึ่งวงกลมเป็น 2 ซีก จากด้านหน้าไปด้านหลัง ทำให้สมองแยกเป็น 2 ซีก (2 hemispheres) ด้านซ้ายและด้านขวายึดโยงกันด้วย คอร์ปัสแคลโลซัม (corpus callosum)ซึ่งเป็นกลุ่มใยประสาทที่เชื่อมโยงการทำงานของสมองสองซีกเข้าด้วยกัน เมื่อมองจากลักษณะภายนอกของสมอง จะเห็นพื้นผิวเป็นหยักลอน เราเรียกพื้นผิวชั้นบนสุดที่ครอบคลุมสมองใหญ่นี้ว่า ผิวสมอง หรือ เปลือกสมอง
(cerebral cortex)ซึ่งการเรียนรู้ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นบนสมองนี้ สมองใหญ่แต่ละซีกแบ่งเป็น 4ส่วน คือ
1.สมองส่วนหน้า (frontal lobe)ทำงานเกี่ยวกับการตัดสินใจ เหตุผล วางแผน และควบคุมการเคลื่อนไหว
2.สมองส่วนหลังกระหม่อม (parietal lobe) ทำงานเกี่ยวกับการรับรู้ความรู้สึกสัมผัสและรับรู้ตำแหน่งของร่างกายส่วนต่างๆ รวมทั้งนำการรับรู้ในส่วนนี้ประสานกับการรับรู้ภาพและเสียง
3.สมองส่วนหลัง (occipital lobe) ทำงานเกี่ยวกับการรับรู้ภาพ
4.สมองส่วนขมับ (temporal lobe) ทำงานเกี่ยวกับการรับรู้ เสียง ความจำ การตีความ ภาษา
ลึกลงไปใต้ส่วนที่เป็นผิวสมอง (cerebral cortex)ยังมีกลุ่มเซลสมองหลายกลุ่มที่มีหน้าที่สำคัญต่อการเรียนรู้ กลุ่มเซลเหล่านี้ทำงานร่วมกันเป็นระบบที่เกี่ยวข้องกับสัญญาณอารมณ์ มีบทบาทสำคัญต่อการจำ การรับรู้ประสบการณ์อารมณ์ และควบคุมกลไกของร่างกายเกี่ยวเนื่องกับอารมณ์ เรียกระบบสมองส่วนนี้ว่า ระบบลิมบิก(limbic system)หรือสมองส่วนลิมบิกประกอบด้วยสมองส่วนต่างๆเช่น
1.ทาลามัส (thalamus) เป็นชุมทางสัญญาณ คัดกรองและส่งสัญญาณไปยังผิวสมองและส่วนต่างๆ ของสมอง
2.ไฮโปทาลามัส (hypothalamus) เป็นเสมือนศูนย์ควบคุมปฏิบัติการรับข้อมูลที่เกี่ยวกับสภาวะภายในร่างกาย และทำหน้าที่ควบคุมสมดุลของระบบในร่างกายที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต
3.ฮิปโปแคมปัส (hippocampus) เป็นส่วนของผิวสมองส่วนขมับด้านในที่ม้วนเข้าไปกลายเป็นส่วนที่อยู่ใต้ผิวสมอง มีส่วนสำคัญต่อการ เชื่อมโยงความจำ และสร้างความจำระยะยาว
3.อะมิกดาลา (amygdala) เป็นจุดเชื่อมโยงที่สำคัญระหว่างการประเมินข้อมูลจากประสาทรับรู้ต่างๆ ของสมองบริเวณคอร์ติคัล คอร์เท็กซ์ (cortical cortex)กับการแสดงออกด้านพฤติกรรมของอารมณ์ต่างๆ นอกจากนี้อะมิกดาลายังมีส่วนสำคัญในการรับรู้สิ่งที่เป็นอันตราย กระตุ้นให้ร่างกายมีการตื่นตัวพร้อมที่จะรับมือต่อสิ่งนั้น ( สู้ หรือ หนี)

สมองส่วนรับสัญญาณอารมณ์ เป็นจุดคัดกรองและส่งผ่านข้อมูลไปยังส่วนต่างๆ ของก้านสมอง อารมณ์จึงมีอิทธิพลต่อการเรียนรู้อย่างเห็นได้ชัด แกนกลางที่ยื่นต่อจากส่วนชั้นใต้ผิวสมองลงมา คือ ก้านสมอง( brainstem )เป็นส่วนที่เชื่อมต่อกับสมองกับไขสันหลัง ภายในก้านสมองประกอยด้วยใยประสาททั้งหมดที่ติดต่อระหว่างสมองส่วนต่างๆ ไปยังไขสันหลัง ขณะเดียวกันก็ประกอบด้วยกลุ่มเซลสมองที่ควบคุมการหายใจและจังหวะการเต้นของหัวใจ ศูนย์สัญญาณกระตุ้นการทำงานของสมอง ควบคุมการหลับการตื่น กลุ่มประสาทที่ควบคุมบังคับตาและใบหน้าในการตอบรับต่อเสียงและการเคลื่อนไหว มีเซลประสาทที่ควบคุมกล้ามเนื้อบนใบหน้า ลิ้น การพูด การกลืน ฯลฯ
บนก้านสมองบริเวณใกล้ทายทอยมีโครงสร้างที่สำคัญของสมองอีกส่วนหนึ่ง คือ สมองน้อย(cerebellum) ดูจากภายนอกจะเห็นว่าสมองส่วนนี้อยู่ใต้สมองใหญ่ สมองส่วนนี้ทำหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมประสานการทำงานของกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกาย รักษาสมดุลของท่าทาง ควบคุมการเคลื่อนไหว จดจำแบบแผนการประสานงานของกล้ามเนื้อเล็กใหญ่ในทักษะการเคลื่อนไหวต่างๆ ที่เกิดจากการเรียนรู้ โดยการเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นโดยสมองน้อยทำงานประสานกับสมองใหญ่


สมองเรียนรู้อย่างไร
สมองมนุษย์ประกอบด้วยเซลประมาณหนึ่งแสนล้านเซลเมื่อแรกเกิด ทั้งหมดนั้นเชื่อมโยงกันด้วยแขนงที่ยื่นออกมาจากเซล เป็นเครือข่ายร่างแหของวงจรขนาดมหึมา การเชื่อมโยงของเซลสมองเหล่านี้เอง ที่เป็นกระบวนการสำคัญของการเรียนรู้ บนผิวสมองของเราอัดแน่นไปด้วย เซลสมอง หรือ เซลประสาท (neuron) ซึ่งเป็นเซลขนาดเล็กมาก ประกอบด้วยตัวเซลที่มีแขนงเดนไดรท์ (dendrite) ยื่นออกมาโดยรอบ และมีแขนงยาวยื่นออกไปจากตัวเซลสมองที่เรียกว่า แอกซอน (axon) ทำหน้าที่ในการส่งกระแสประสาท (ข้อมูลหรือสิ่งที่เรียนรู้) จากเซลประสาทหนึ่งไปยังอีกเซลประสาท ซึ่งจุดที่แขนงของเซลประสาทหนึ่งมาเจอกันกับอีกเซลประสาทหนึ่งเรียกว่า จุดเชื่อมสัญญาณประสาท (synapse) ซึ่งตรงจุดนี้ปลายแขนงแอกซอนจะไม่ได้สัมผัสกับแขนงเดนไดรท์โดยตรง แต่มีช่องว่างเล็กมากคั่นอยู่ ในการเชื่อมต่อวงจรในเซลสมองทั้งหลายนั้นทำได้โดยการส่งผ่านสัญญาณไฟฟ้าระหว่างกันโดยมีสารสื่อประสาท (neurotransmitter) ทำหน้าที่เป็นตัวส่งผ่านสัญญาณประสาท เกิดเป็นเครือข่ายสัญญาณเชื่อมโยงกันทั้งระบบประสาท นี่เป็นกระบวนการของการติดต่อกันของเซลสมอง ซึ่งกระบวนการนี้จะมีศักยภาพมากน้อยเพียงไรก็ขึ้นอยู่กับว่าได้มีการใช้มากน้อยเพียงใด ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วหากว่าเซลสมองส่วนใดที่ไม่ได้รับการใช้ (พัฒนา) มากพอ จุดเชื่อมสัญญาณประสาท และเครือข่ายโยงใยเส้นประสาท รวมทั้งเซลสมองส่วนนั้นก็จะถูกกำจัดทิ้งไปโดยกระบวนการ pruning and apoptosisถึงเวลาที่เราต้องเลือก “จะใช้หรือยอมที่จะสูญเสียไป” (use it or lose it)




การนำทฤษฏีพหุปัญามาใช้กับการเรียนการสอนแบบ Brain Based Learning
ศาสตราจารย์โฮวาร์ด การ์ดเนอร์ (Howard Gardner) นักจิตวิทยา มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด เป็นผู้หนึ่งที่พยายามอธิบายให้เห็นถึงความสามารถที่หลากหลาย โดยคิดเป็น “ ทฤษฎีพหุปัญญา ” (Theory of Multiple Intelligences) เสนอแนวคิดว่า สติปัญญาของมนุษย์มีหลายด้านที่มีความสำคัญเท่าเทียมกัน ขึ้นอยู่กับว่าใครจะโดดเด่นในด้านไหนบ้าง แล้วแต่ละด้านผสมผสานกัน แสดงออกมาเป็นความสามารถในเรื่องใด เป็นลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละคนไป ในปี พ.ศ. 2526 การ์ดเนอร์ ได้เสนอว่าปัญญาของมนุษย์มีอยู่อย่างน้อย 7 ด้าน คือ ด้านภาษา ด้านตรรกศาสตร์และคณิตศาสตร์ ด้านมิติสัมพันธ์ ด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว ด้านดนตรี ด้านมนุษยสัมพันธ์ และด้านการเข้าใจตนเอง ต่อมาในปี พ.ศ. 2540 ได้เพิ่มเติมเข้ามาอีก 1 ด้าน คือ ด้านธรรมชาติวิทยา เพื่อให้สามารถอธิบายได้ครอบคลุมมากขึ้น จึงสรุปได้ว่า พหุปัญญา ตามแนวคิดของการ์ดเนอร์ ในปัจจุบันมีปัญญาอยู่อย่างน้อย 8 ด้าน ดังนี้

1. ปัญญาด้านภาษา (Linguistic Intelligence)
คือ ความสามารถในการใช้ภาษารูปแบบต่างๆ ตั้งแต่ภาษาพื้นเมือง จนถึงภาษาอื่นๆ ด้วย สามารถรับรู้ เข้าใจภาษา และสามารถสื่อภาษาให้ผู้อื่นเข้าใจได้ตามที่ต้องการ ผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น ก็มักเป็น กวี นักเขียน นักพูด นักหนังสือพิมพ์ ครู ทนายความ หรือนักการเมือง
2. ปัญญาด้านตรรกศาสตร์และคณิตศาสตร์ (Logical-Mathematical Intelligence)
คือ ความสามารถในการคิดแบบมีเหตุและผล การคิดเชิงนามธรรม การคิดคาดการณ์ และการคิดคำนวณทางคณิตศาสตร์ ผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น ก็มักเป็น นักบัญชี นักสถิติ นักคณิตศาสตร์ นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ นักเขียนโปรแกรม หรือวิศวกร
3. ปัญญาด้านมิติสัมพันธ์ (Visual-Spatial Intelligence)
คือ ความสามารถในการรับรู้ทางสายตาได้ดี สามารถมองเห็นพื้นที่ รูปทรง ระยะทาง และตำแหน่ง อย่างสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน แล้วถ่ายทอดแสดงออกอย่างกลมกลืน มีความไวต่อการรับรู้ในเรื่องทิศทาง สำหรับผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น จะมีทั้งสายวิทย์ และสายศิลป์ สายวิทย์ ก็มักเป็น นักประดิษฐ์ วิศวกร ส่วนสายศิลป์ ก็มักเป็นศิลปินในแขนงต่างๆ เช่น จิตรกร วาดรูป ระบายสี เขียนการ์ตูน นักปั้น นักออกแบบ ช่างภาพ หรือสถาปนิก เป็นต้น
4. ปัญญาด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว (Bodily Kinesthetic Intelligence)
คือ ความสามารถในการควบคุมและแสดงออกซึ่งความคิด ความรู้สึก โดยใช้อวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย รวมถึงความสามารถในการใช้มือประดิษฐ์ ความคล่องแคล่ว ความแข็งแรง ความรวดเร็ว ความยืดหยุ่น ความประณีต และความไวทางประสาทสัมผัส สำหรับผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น มักจะเป็นนักกีฬา หรือไม่ก็ศิลปินในแขนง นักแสดง นักฟ้อน นักเต้น นักบัลเล่ย์ หรือนักแสดงกายกรรม
5. ปัญญาด้านดนตรี (Musical Intelligence)
คือ ความสามารถในการซึมซับ และเข้าถึงสุนทรียะทางดนตรี ทั้งการได้ยิน การรับรู้ การจดจำ และการแต่งเพลง สามารถจดจำจังหวะ ทำนอง และโครงสร้างทางดนตรีได้ดี และถ่ายทอดออกมาโดยการฮัมเพลง เคาะจังหวะ เล่นดนตรี และร้องเพลง สำหรับผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น มักจะเป็นนักดนตรี นักประพันธ์เพลง หรือนักร้อง

6. ปัญญาด้านมนุษยสัมพันธ์ (Interpersonal Intelligence)
คือ ความสามารถในการเข้าใจผู้อื่น ทั้งด้านความรู้สึกนึกคิด อารมณ์ และเจตนาที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใน มีความไวในการสังเกต สีหน้า ท่าทาง น้ำเสียง สามารถตอบสนองได้อย่างเหมาะสม สร้างมิตรภาพได้ง่าย เจรจาต่อรอง ลดความขัดแย้ง สามารถจูงใจผู้อื่นได้ดี เป็นปัญญาด้านที่จำเป็นต้องมีอยู่ในทุกคน แต่สำหรับผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น มักจะเป็นครูบาอาจารย์ ผู้ให้คำปรึกษา นักการฑูต เซลแมน พนักงานขายตรง พนักงานต้อนรับ ประชาสัมพันธ์ นักการเมือง หรือนักธุรกิจ
7. ปัญญาด้านการเข้าใจตนเอง (Intrapersonal Intelligence)
คือ ความสามารถในการรู้จัก ตระหนักรู้ในตนเอง สามารถเท่าทันตนเอง ควบคุมการแสดงออกอย่างเหมาะสมตามกาลเทศะ และสถานการณ์ รู้ว่าเมื่อไหร่ควรเผชิญหน้า เมื่อไหร่ควรหลีกเลี่ยง เมื่อไหร่ต้องขอความช่วยเหลือ มองภาพตนเองตามความเป็นจริง รู้ถึงจุดอ่อน หรือข้อบกพร่องของตนเอง ในขณะเดียวกันก็รู้ว่าตนมีจุดแข็ง หรือความสามารถในเรื่องใด มีความรู้เท่าทันอารมณ์ ความรู้สึก ความคิด ความคาดหวัง ความปรารถนา และตัวตนของตนเองอย่างแท้จริง เป็นปัญญาด้านที่จำเป็นต้องมีอยู่ในทุกคนเช่นกัน เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่า และมีความสุข สำหรับผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น มักจะเป็นนักคิด นักปรัชญา หรือนักวิจัย
8. ปัญญาด้านธรรมชาติวิทยา (Naturalist Intelligence)
คือ ความสามารถในการรู้จัก และเข้าใจธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง เข้าใจกฎเกณฑ์ ปรากฏการณ์ และการรังสรรค์ต่างๆ ของธรรมชาติ มีความไวในการสังเกต เพื่อคาดการณ์ความเป็นไปของธรรมชาติ มีความสามารถในการจัดจำแนก แยกแยะประเภทของสิ่งมีชีวิต ทั้งพืชและสัตว์ สำหรับผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น มักจะเป็นนักธรณีวิทยา นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย หรือนักสำรวจธรรมชาติ ทฤษฎีนี้ได้ถูกนำไปประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลายในกระบวนการส่งเสริมการเรียนรู้ต่างๆ เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเน้นความสำคัญใน 3 เรื่องหลัก ดังนี้
1. แต่ละคน ควรได้รับการส่งเสริมให้ใช้ปัญญาด้านที่ถนัด เป็นเครื่องมือสำคัญในการเรียนรู้ 2. ในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ ควรมีรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อให้สอดรับกับปัญญาที่มีอยู่หลายด้าน
3. ในการประเมินการเรียนรู้ ควรวัดจากเครื่องมือที่หลากหลาย เพื่อให้สามารถครอบคลุมปัญญาในแต่ละด้าน

ทฤษฎีพหุปัญญา ของ การ์ดเนอร์ ชี้ให้เห็นถึงความหลากหลายทางปัญญาของมนุษย์ ซึ่งมีหลายด้าน หลายมุม แต่ละด้านก็มีความอิสระในการพัฒนาตัวของมันเองให้เจริญงอกงาม ในขณะเดียวกันก็มีการบูรณาการเข้าด้วยกัน เติมเต็มซึ่งกันและกัน แสดงออกเป็นเอกลักษณ์ทางปัญญาของมนุษย์แต่ละคน คนหนึ่งอาจเก่งเพียงด้านเดียว หรือเก่งหลายด้าน หรืออาจไม่เก่งเลยสักด้าน แต่ที่ชัดเจน คือ แต่ละคนมักมีปัญญาด้านใดด้านหนึ่งโดดเด่นกว่าเสมอ ไม่มีใครที่มีปัญญาทุกด้านเท่ากันหมด หรือไม่มีเลยสักด้านเดียว นับเป็นทฤษฎีที่ช่วยจุดประกายความหวัง เปิดกระบวนทัศน์ใหม่ในการศึกษาด้านสติปัญญาของมนุษย์ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ทั้งในกลุ่มเด็กปกติ เด็กที่มีความบกพร่อง และเด็กที่มีความสามารถพิเศษ
การจัดการศึกษาในโรงเรียนในปัจจุบัน
การนำหลักการจัดการเรียนการสอน แบบ Brain Based Learning มาใช้เนื่องมาจากปัญหา
การจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียน พบว่าการศึกษาของโรงเรียนในปัจจุบันมีสภาพดังนี้คือ 1.การจัดการศึกษาระดับก่อนประถมได้รับความสนใจน้อยที่สุด เช่น ไม่ถือเป็นภาคบังคับได้งบประมาณน้อย จัดได้ไม่ทั่วถึง ใช้ครูที่ขาดความรู้ด้านการกระตุ้นเพื่อช่วยพัฒนาสมองเด็กเล็ก 2.การเลี้ยงเด็กเล็ก เน้นแต่เพียงการกินอิ่มนอนหลับ ปลอดภัยทางกายภาพ โดยผู้เลี้ยงที่ไม่มีความรู้เรื่องการพัฒนาของสมอง เด็กบางคนถูกเลี้ยงในศูนย์เลี้ยงเด็ก ที่คนดูแลมีความรู้น้อย เงินเดือนต่ำ ต้องดูแลเด็กจำนวนมาก แม้แต่การเรียนในระดับอนุบาล ส่วนใหญ่ครูก็มีความรู้น้อย สอนแต่ภาษาและคณิตศาสตร์เบื้องต้น มีส่วนน้อยที่เป็นโรงเรียนเตรียมความพร้อมสร้างบรรยากาศเรียนรู้ที่ดีและฝึกให้เด็กเล็กใช้สมองทุกด้าน 3.โรงเรียนส่วนใหญ่ เน้นการสอนและวัดผลเพียง 2 ด้าน คือ ภาษาและตรรกคณิตศาสตร์ ไม่ค่อยสนับสนุนให้นักเรียนมีความฉลาดอีก 6 ด้าน ที่สำคัญต่อการพัฒนาการเรียนรู้อย่างเป็นองค์รวม นักเรียนที่เรียนรู้ 2 ด้านแรกได้ไม่ดี จะถูกมองว่าเป็นคนไม่ฉลาด ความฉลาดด้านอื่น ๆของนักเรียนจำนวนมากไม่ได้รับการสังเกตและส่งเสริมพัฒนา โดยเฉพาะสิ่งที่อาจจะเรียกรวมได้ว่าเป็นความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) และความฉลาดทางด้านจิตสำนึก (SQ) การสอนในระดับมัธยมปลาย และมหาวิทยาลัยของไทยเน้นความชำนาญเฉพาะด้าน แทนที่จะเปิดโอกาสให้สมองได้เรียนรู้สาขาวิชาอย่างหลากหลาย เหมือนในสถาบันการศึกษาที่ก้าวหน้าทางการศึกษามากกว่า 4.การจัดหลักสูตรการเรียนการสอนจัดแบบเดียวกันสำหรับทุกคนในห้องเรียน โดยใช้อายุและการสอบเลื่อนชั้นเป็นเกณฑ์ ห้องเรียนมักใหญ่ มีนักเรียนมาก(30-50คน)ครูไม่อาจสังเกตลักษณะเฉพาะของแต่ละคนได้ หรือครูที่ไม่เข้าใจว่านักเรียนมีสไตล์การเรียนรู้และความพร้อมที่ต่างกัน ก็จะตัดสินแบบหยาบ ๆ ว่าคนที่เรียนตามไม่ทันเพื่อน ทำคะแนนสู้เพื่อนไม่ได้คือ คนโง่ นักเรียนคนนั้นก็จะถูกทำลายความภาคภูมิใจในตัวเอง(Self Esteem)ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง 5.ครูแบบเก่า ยังสอนแบบเน้นวินัยแบบทหาร มีการประณาม ดุด่า ลงโทษ เฆี่ยนตี การสร้างบรรยากาศแข่งขัน แบบทำให้นักเรียนเครียดการสอนมักเคร่งเครียดหรือแห้งแล้ง 6.การสอนในระบบโรงเรียน จะสอนตามหลักสูตรตำรา ความรู้ความเข้าใจของผู้สอนมากกว่าที่จะเชื่อมโยงกับความสนใจ ความรู้เดิมของนักเรียน มักเป็นการสอนแบบบรรยายและสอนให้ท่องจำเป็นส่วน ๆ แบบไม่เชื่อมโยงกับความสนใจ ความรู้เดิม ไม่เชื่อมโยงกับประสบการณ์ชีวิตจริง ทำให้การสอนเป็นเรื่องน่าเบื่อ จดจำและเข้าใจได้ยาก 7. การจัดการศึกษากว่าร้อยละ 90 ของงบประมาณและบุคลากร เน้นแต่เรื่องการศึกษาในระบบโรงเรียนส่วนการพัฒนานอกระบบโรงเรียนและตามอัธยาศัยยังมีน้อยทั้งปริมาณและคุณภาพ บางครั้งก็พยายามลอกแบบการศึกษาในระบบ คือ เพื่อการสอบเทียบวุฒิตามระบบโรงเรียน ส่วนวิทยุโทรทัศน์ สื่อต่างๆ ใช้เพื่อความบันเทิง(สำหรับคนระดับการศึกษาค่อนข้างต่ำ)และการค้า ซึ่งนอกจากจะไม่ช่วยการเรียนรู้ที่ดีแล้วยังทำให้เกิดผลลบ ในการสร้างค่านิยมบริโภค เสพสุขสุด เห็นแก่ตัวรุนแรงเพิ่มขึ้นด้วย 8.การจัดระบบการศึกษา รอให้คนมีปัญหาแล้วถึงมาตามแก้ เช่น เด็กที่เรียนได้ช้าก็มาสอนเสริม สอนกวดวิชา เด็กที่มีปัญหาเฉพาะทาง เช่น ปัญญาอ่อน ออทิสติก ก็ต้องลงทุนสร้างครูพิเศษเฉพาะทาง เด็กเกเร ก็ต้องลงทุนสร้างนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ ตำรวจ ฯลฯ มาตามแก้ไข แทนที่จะลงทุนป้องกันตั้งแต่ต้นทาง 9.การสอนที่เน้นการบรรยาย เพื่อจำข้อมูลไปสอบโดยไม่มีสื่อภาพ ที่ช่วยให้เข้าใจและจำได้ง่ายและไม่มีการออกไปสัมผัสของจริง กลายเป็นวิธีการเรียนรู้ที่แห้งแล้งน่าเบื่อจำได้ยาก เชื่อมโยงทำความเข้าใจยาก

หลักการจัดการเรียนการสอน แบบ Brain Based Learning

Brain Based Learning คือ การใช้ความรู้ความเข้าใจที่เกี่ยวข้องกับสมองเป็นเครื่องมือในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้และกระบวนการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างศักยภาพสูงสุดในการเรียนรู้ของมนุษย์ โดยเชื่อว่าโอกาสทองของการเรียนรู้อยู่ระหว่างแรกเกิด – 10 ปี
Regate และ Geoffrey Caine นักวิจัยเกี่ยวกับการเรียนรู้โดยใช้ความรู้เกี่ยวกับสมองเป็นหลัก ได้เสนอทฤษฎีเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน 12 ข้อ ดังต่อไปนี้

1.สมองเป็นกระบวนการคู่ขนาน
มองเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญที่สุดในร่างกายของคนเราเพราะการที่มนุษย์สามารถเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้นั้นจะต้องอาศัยสมองและระบบประสาทเป็นพื้นฐานของการรับรู้ รับความรู้สึกจากประสาทสัมผัส ได้แก่ ตาทำให้เห็น หูทำให้ได้ยิน จมูกทำให้ได้กลิ่น ลิ้นทำให้ได้รับรส และผิวกายทำให้เกิดการสัมผัส
แนวการจัดกิจกรรมการสอน
ครูจำเป็นต้องใช้กลวิธีและเทคนิคที่หลากหลายเพื่อกระตุ้นสมองของนักเรียน ไม่มีวิธีหรือเทคนิคของใครสมบูรณ์ที่สุด ดังนั้นการสอนที่ดีต้องสอดคล้องกับการที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามเป้าหมายของการศึกษานั้นขึ้นอยู่กับการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ซึ่งกระบวนการเรียนรู้ของบุคคลนั้นมีความหลากหลายและแตกต่างกันไปตามประสบการณ์และความสามารถพื้นฐานของบุคคลนั้น ๆ หรือ Style การเรียนรู้มีหลายรูปแบบ โดยพบว่าห้องเรียนหนึ่ง ๆ มักจะมีผู้ถนัดการเรียนรู้อยู่ 4 รูปแบบ คือ นักทฤษฎี นักวิเคราะห์ นักปฏิบัติ และนักกิจกรรม ดังนั้น ครูจึงจำเป็นต้องจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้เหมาะสมและเอื้อต่อผู้เรียนทั้ง 4 แบบอย่างเสมอภาคกัน เพื่อให้ผู้เรียนมีความสนุกสนานเกิดความสุขในการเรียนรู้ตามรูปแบบที่ตนถนัด รวมทั้งยังมีโอกาสพัฒนาความสามารถด้านอื่น ๆ ที่ตนเองไม่ถนัดด้วยวิธีการหลากหลายอีกด้วย โดยอาจเริ่มจากรู้จักผู้เรียนเป็นรายบุคคลแล้ววางแผนจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับลักษณะของผู้เรียนรวมทั้งสร้างโอกาสให้เขาได้พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง

2.สมองกับการเรียนรู้
สมองไม่ได้มีหน้าที่เฉพาะรับรู้แต่เพียงอย่างเดียว แต่จะเป็นอวัยวะที่สำคัญต่อการพัฒนาของอวัยวะทั้งหมดของร่างกาย ซึ่งจะรวมถึงการคิด การเรียนรู้ การจำ และพฤติกรรมของมนุษย์ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ครูผู้สอนควรจะมีความรู้เรื่องที่เกี่ยวกับการทำงานและการพัฒนาของสมองเพื่อจะได้วางแผนจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในลักษณะที่กระตุ้นให้สมองคิดและทำงานแบบท้าทายยั่วยุมากที่สุด ผู้เรียนได้คิดและแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ในทุกด้าน ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนได้พัฒนากระบวนการคิด
และเรียนรู้เต็มตามศักยภาพ เป็นรากฐานไปสู่การเป็นคนดี คนเก่งและมีความสุขในการดำรงชีวิต
และเมื่อเติบโตขึ้นจะได้เป็นเยาวชนพลเมืองที่ดีของสังคมต่อไป
แนวการจัดการเรียนการสอน
วิธีการเตรียมความพร้อมทางสมอง
1. การดื่มน้ำ ควรดื่มน้ำบริสุทธิ์ วันละ 6 – 8 แก้ว เพราะถ้าร่างกายได้รับน้ำอย่างเพียงพอ
จะทำให้เซลล์สมองทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. การรับประทานอาหาร ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ซึ่งถูกต้องตามหลักโภชนาการ เพราะอาหารจะทำให้เซลล์ประสาทและ เซลล์สมองเจริญเติบโต ส่งผลให้ความจำดีและเกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ
3. การหายใจ ควรฝึกหายใจให้ลึก ๆ ซ้ำ ๆ และมีจังหวะที่แน่นอน เพราะสมองต้องการอ๊อกซิเจน และอ๊อกซิเจนช่วยให้กระบวนการคิดดี ซึ่งถ้ามีการหายใจที่ถูกต้องจะช่วยให้เกิดสมาธิ สมองปลอดโปร่ง ลดสภาพการหลง ๆ ลืม ๆ และสามารถป้องกันโรคสมองเสื่อมได้
4. การฟังเพลงและดนตรี ควรหาโอกาสฟังเพลงและดนตรี จะกระตุ้นให้เกิดการรับรู้
และกระตุ้นการทำงานของสมองทั้งสองซีกให้สอดคล้องกันทั้งระบบการฟังเพลงที่มีคุณภาพทำให้สมองผลิต Alpha Waves และ Theta Waves ทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างรวดเร็วและเกิดความคิดสร้างสรรค์ชั้นสูง
5. การคลายความเครียด ความเครียดเป็นอุปสรรค์ต่อการเรียนรู้ ดังนั้นควรหาเวลาพักผ่อน ออกกำลังกาย จัดลำดับความสำคัญของงาน การหัวเราะและยิ้มทำให้จิตใจเบิกบานไม่เครียดและไม่คิดว่าตัวเองเป็นคนไร้ค่า
6. การบริหารสมอง การบริหารสมองเป็นระบบการเคลื่อนไหวร่างกาย ที่จะเร้าให้
สมองทำงานอย่างดี เป็นการเชื่อมโยงระหว่างการเคลื่อนไหวร่างกายกับการทำงานของสมอง

3. การเรียนรู้มีมาแต่กำเนิด
ในการเรียนรู้ของบุคคลเรานั้นจะเกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มมีชีวิต และเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่าการเรียนรู้ที่ดีที่สุดนั้นจะต้องลงมือปฏิบัติด้วยตนเองหรือเป็นการเรียนรู้โดยประสบการณ์ตรง

การเรียนรู้กับการเรียนการสอน
การที่จะทำให้ผู้เรียนได้มีโอกาสศึกษาเรียนรู้เพื่อเป็นผู้ที่เก่ง ดี และมีความสุขได้นั้น ย่อมขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการด้วยกัน แต่ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญยิ่ง ได้แก่ การจัดการเรียนการสอน เพราะหัวใจของการเรียนการสอนคือการเรียนรู้ของผู้เรียน ซึ่งถ้าหากมีการจัดการเรียนการสอนที่ดี ย่อมก่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่ดีได้

ลักษณะการเรียนการสอนที่ดี มีดังต่อไปนี้
1. ต้องคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล
2. เน้นความต้องการของผู้เรียนเป็นหลัก
3. ต้องพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้เรียน
4. ต้องเป็นที่น่าสนใจ ไม่ทำให้ผู้เรียนรู้สึกเบื่อหน่าย
5. ต้องดำเนินไปด้วยความเมตตากรุณาต่อผู้เรียน
6. ต้องท้าทายให้ผู้เรียนอยากเรียนรู้
7. ต้องตระหนักถึงเวลาที่เหมาะสมที่ผู้เรียนจะเกิดการเรียนรู้
8. ต้องสร้างสถานการณ์ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ โดยการปฏิบัติจริง
9. ต้องสนับสนุนส่งเสริมการเรียนรู้
10. ต้องมีจุดมุ่งหมายของการสอน
11. ต้องสามารถเข้าใจผู้เรียน
12. ต้องคำนึงถึงภูมิหลังของผู้เรียน
13. ต้องไม่ยึดวิธีการใดวิธีการหนึ่งเท่านั้น
14. การเรียนการสอนที่ดีเป็นพลวัตร (Dynamic) คือ มีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง
อยู่ตลอดเวลา ทั้งในด้านการจัดกิจกรรม การสร้างบรรยากาศ รูปแบบ เนื้อหาสาระ เทคนิควิธี ฯลฯ
15. ต้องสอนในสิ่งที่ไม่ไกลตัวผู้เรียนมากเกินไป
16. ต้องมีการวางแผนการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ
ดังนั้น การเรียนรู้ของผู้เรียนจะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ถ้าผู้วางแผนการเรียนรู้ได้
คำนึงถึงลักษณะการเรียนรู้ที่ดี วิธีการเรียนรู้ หลักการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ หลักการสอนที่มีประสิทธิภาพและลักษณะการเรียนการสอนที่ดี ดังที่นำเสนอเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการวางแผนการจัดการเรียนรู้ต่อไป

4. รูปแบบการเรียนรู้ของบุคคล
ผู้เรียนในห้องเรียนหนึ่ง ๆ มักจะมีผู้ถนัดการเรียนรู้ตามรูปแบบของตน ครูจึงจำเป็นต้องจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับผู้เรียนทุกรูปแบบอย่างเสมอภาคกัน เพื่อให้ผู้เรียนมีความสนุกสนานและเกิดความสุขในการเรียนรู้ตามรูปแบบที่ตนถนัด รวมทั้งยังมีโอกาสพัฒนาความสามารถด้านอื่น ๆ ที่ตนไม่ถนัดอีกด้วย
แนวการจัดการเรียนการสอน
การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้มิใช่เกิดจากการสั่ง การสอน การถ่ายทอดเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเกิดจากประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของมนุษย์ มีการรับรู้ คือ การแสวงหาและรับข้อมูล ข้อความรู้จากประสาทสัมผัสต่าง ๆ มีการบูรณาการความรู้ เป็นการนำข้อมูลข่าวสาร ความรู้ใหม่ที่ได้รับมาผสมผสานเชื่อมโยงกับประสบการณ์ หรือโครงสร้างขอความรู้เดิม เพื่อขยายหรือสร้างความรู้ใหม่ มีการประยุกต์ใช้ คือการนำความรู้มาใช้ในการดำรงชีวิต หรือการแก้ปัญหาในการทำงาน ดังนั้น การจัดการเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่แท้จริงและถาวรนั้น จะต้องจัดให้ครบองค์ประกอบทั้ง 3 ส่วน ได้แก่ การรับรู้ การบูรณาการความรู้ และการประยุกต์ใช้ เพื่อเป็นการเชื่อมโยงความรู้สู่การปฏิบัติจริงในวิถีชีวิต

5. ความสนใจมีความสำคัญต่อการเรียนรู้
ความสามารถพิเศษของมนุษย์ แบ่งออกเป็น 8 ด้านด้วยกัน มนุษย์ย่อมมีความแตกต่างระหว่างบุคคลแต่ละคนมักจะมีความเก่งไม่เหมือนกันควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนเป็นผู้วางแผนในการพัฒนาตนเอง โดยเริ่มจากรู้จักตนเอง รู้จุดเด่น จุดด้อย ค้นหาวิธีการพัฒนาความเก่งให้แก่ตนเองที่จะนำไปสู่การปฏิบัติอย่างมีความสุขและเกิดการเรียนรู้อย่างมีความหมาย
แนวการจัดการเรียนการสอน
ครูผู้สอนจะต้องมีข้อมูล และรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล คิดและจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาความถนัดความสามารถหรือความเก่งให้เก่งมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการพัฒนาด้านอื่น ๆ อีกให้มีความเก่งหลาย ๆ ด้าน เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงออกถึงความสามารถหรือความเก่งสู่สาธารณชน โดยอาจจัดเวทีให้แสดงอย่างอิสระ

6. สมองมีหน้าที่สร้างกระบวนการเรียนรู้
สมองของคนเราแบ่งออกเป็น 2 ซีก คือซีกซ้ายกับซีกขวา สมองทั้งสองด้านมีความสัมพันธ์กัน สมองมีหน้าที่ ควบคุมการรับรู้ การคิด การเรียนรู้และการจำ ควบคุมการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย และควบคุมความรู้สึกและพฤติกรรม
จะเห็นได้ว่า สมองไม่ได้มีหน้าที่เฉพาะรับรู้แต่เพียงอย่างเดียว แต่จะเป็นอวัยวะที่สำคัญต่อการพัฒนาของอวัยวะทั้งหมดในร่างกาย ซึ่งรวมถึงความคิด การเรียนรู้ การจำ และพฤติกรรมของมนุษย์
แนวการจัดการเรียนการสอน
การจัดการเรียนการสอนที่ดี ครูต้องมีความเข้าใจทักษะที่เกี่ยวโยงกับความสามารถพิเศษของสมองแต่ละซีก สมองซีกซ้ายสั่งการทำงานเกี่ยวกับ คำ ภาษา ตรรกะ ตัวเลขและจำนวน ลำดับ ระบบ การคิดวิเคราะห์ และการแสดงออกเป็นต้น สมองซีกขวาจะสั่งการเกี่ยวกับ จังหวะ ดนตรี ศิลปะ จินตนาการ การสร้างภาพ การรับรู้ การเห็นภาพรวม ความจำ ความคิดสร้างสรรค์ เป็นต้น

7. การเรียนรู้ในสิ่งที่สนใจสามารถรับรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สมองจะซึมซับข้อมูลที่บุคคลมีความสนในเรื่องนั้นอยู่แล้วเชื่อมโยงกับข้อมูลความรู้ใหม่ ประสานข้อมูลความรู้เข้าด้วยกัน ซึ่งหมายความว่า การเรียนรู้ของมนุษย์จะมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เมื่อมีการเชื่อมโยงระหว่างประสบการณ์เดิมของผู้เรียนกับการจัดประสบการณ์ในการเรียนรู้ในแต่ละครั้ง
แนวการจัดการเรียนการสอน
ควรจัดเนื้อหาที่มีความหลากหลายครอบคลุมทุกมิติของชีวิตมนุษย์ กระบวนการเรียนรู้มีลักษณะหลากหลายร่วมกันในลักษณะ ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง แหล่งการเรียนรู้หลากหลาย เช่น เรียนรู้จากสื่อธรรมชาติ จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ จากแหล่งงานอาชีพของชุมชน จากการค้นคว้าทางเทคโนโลยี ฯลฯ



8.การเรียนรู้เกิดขึ้นได้เกี่ยวข้องกับกระบวนการทั้งในแบบที่มีจุดมุ่งหมายและไม่ได้ตั้งใจ
การเรียนรู้ของคนส่วนใหญ่มักเกิดการเรียนรู้ขึ้นได้จากสิ่งที่ไม่ได้ตั้งใจ สามารถเรียนรู้ได้จากประสบการณ์ในสถานการณ์จริง เช่นในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เผชิญอยู่โดยไม่ได้คิดในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นมาก่อนโดยอาศัยประสบการณ์เดิมของแต่ละบุคคลในการเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม
แนวการจัดกิจกรรมการสอน
ในกระบวนการเรียนรู้นั้น ขณะที่ผู้เรียนเรียนรู้นั้นอาจเป็นแค่การรับรู้ แต่ยังไม่เข้าใจ ความเข้าใจอาจเกิดขึ้นภายหลังจากที่ผู้เรียนสามารถมองเห็นถึงความหมายและความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันถึงสิ่งต่าง ๆ ที่ตนเองรับรู้จากแหล่งความรู้ที่หลากหลาย ในระดับที่สามารถอธิบายเชิงเหตุผลได้ ซึ่งบางครั้งการสอนในชั้นเรียนเมื่อจบลงบางบทเรียนไม่สามารถทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ เนื่องจากการสอนนั้นไม่สอดคล้องกับประสบการณ์เดิมของผู้เรียน

9. การเรียนรู้ที่เกิดจากกระบวนการสร้างความเข้าใจ
การเรียนรู้ที่ดีเกิดจากกระบวนการที่สร้างความเข้าใจและให้ความหมายกับสิ่งที่รับรู้มามีการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งที่เรียนกับชีวิตจริง สอนและแนะนำบนพื้นฐานความรู้ ประสบการณ์และทักษะที่มีอยู่เดิมของผู้เรียน
แนวการจัดการเรียนการสอน
บางครั้งการจำเป็นสิ่งสำคัญและมีประโยชน์ แต่การสอนที่เน้นการจำไม่ก่อให้เกิด
ความเชื่อมโยงให้เกิดการเรียนรู้และบางครั้งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาความเข้าใจ ถ้าครูไม่ได้ศึกษาลีลารูปแบบการเรียนรู้ของผู้เรียนแต่ละประเภท ว่ามีความชื่นชอบ ความถนัด วิธีการเรียนรู้ หลักการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพและจัดกิจกรรมการสอนให้สอดคล้องกับผู้เรียนแต่ละประเภทจะส่งผลต่อการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพเช่นเดียวกัน

10. การเรียนรู้เกิดจากการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
ภาษาแรกของมนุษย์เราถูกเรียนรู้จากประสบการณ์ที่มีปฏิสัมพันธ์กันอย่างหลากหลายด้วยคำศัพท์และไวยากรณ์ ถูกเรียนรู้โดยกระบวนการเรียนรู้ภายในของบุคคลที่เกิดจากการมีปฏิสัมพันธ์
กับสังคมและสิ่งแวดล้อมภายนอก
แนวการจัดการเรียนการสอน
ครูจำเป็นต้องใช้กิจกรรมที่เป็นสถานการณ์ในชีวิตประจำวันประกอบด้วย การสาธิต
การทำโครงงาน ทัศนศึกษา การรับรู้ประสบการณ์ด้วยการมองเห็นของจริง การเล่าเรื่อง ละคร
และการมีปฏิสัมพันธ์ต่อคนหลาย ๆ ประเภท การเรียนแบบมุ่งประสบการณ์ทางภาษาสามารถเรียนรู้ได้ในกระบวนการโดยผ่านเรื่องหรือการเขียน
ความสำเร็จขึ้นอยู่กับการใช้ประสาทสัมผัสและให้ผู้เรียนพบประสบการณ์ที่ซับซ้อนและมีความเกี่ยวข้องกันในเนื้อหา ครูไม่ควรเป็นเพียงผู้บรรยาย แต่ควรเป็นผู้กำกับที่ทำให้ผู้เรียนเกิดประสบการณ์ที่ส่งผลต่อการเรียนรู้

11. การเรียนรู้คือการส่งเสริมให้ผู้เรียนเผชิญกับสถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นการเรียนรู้
เซลล์สมองจะเกิดมีการเชื่อมต่ออย่างสูงสุด เมื่อถูกกระตุ้นให้เผชิญกับสถานการณ์ที่ท้าทายให้ผู้เรียนอยากเรียนรู้ โดยผ่านกระบวนการเล่นอย่างสนุกสนานและมีความสุข ปราศจากความเครียด เพราะความเครียดเป็นสิ่งที่บั่นทอนการเรียนรู้ของผู้เรียนได้
แนวการจัดการเรียนการสอน
ควรสร้างสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัยเพื่อ การเรียนรู้ โดยผ่านการเล่นแบบท้าทาย การเสี่ยง ความสนุกสนาน เป็นสิ่งจำเป็นที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ การถูกทำโทษอันเนื่องมาจากความผิดพลาดจะทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ครูจึงไม่ควรลงโทษผู้เรียนในการเข้าร่วมกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนเผชิญกับสถานการณ์แวดล้อมที่กระตุ้นการเรียนรู้

12. สมองของบุคคลมีความเท่าเทียมกัน
มนุษย์ทุกคนมีระบบสมองที่เหมือนกัน ถึงแม้ว่าทุกคนจะมีศักยภาพแตกต่างกันในด้าน
ความรู้ความถนัดที่มีอยู่เดิมตามสภาพแวดล้อมของแต่ละคนแต่เราสามารถเรียนรู้ได้เต็มตามศักยภาพได้อย่างเท่าเทียมกัน
แนวการจัดการเรียนการสอน
ผู้เรียนมีความแตกต่างกันเกี่ยวกับความสามารถทางสติปัญญา ความสามารถความเก่งของมนุษย์ คือ ทฤษฎีพหุปัญญา ความเป็นคนเก่งคืออะไร มีคำตอบมากมายหลายรูปแบบ แต่สรุปรวมได้ว่า
คนเก่งคือผู้มีความสามารถด้านใดด้านหนึ่งเฉพาะด้านหรือหลาย ๆ ด้าน ที่แสดงออกถึงความสามารถได้อย่างเป็นที่ประจักษ์
ในการพัฒนาความเก่งนั้น ควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนเป็นผู้วางแผนในการพัฒนาตนเอง โดยเริ่มจากการรู้จักตนเอง รู้จุดเด่นจุดด้อย ค้นหาวิธีพัฒนาความเก่งให้แก่ตนเองที่จะนำไปสู่การปฏิบัติอย่างมีความสุขและเกิดการเรียนรู้อย่างมีความหมาย ภายใต้การดูแลกระตุ้น ให้คำแนะนำ อำนวยความสะดวกของครู พ่อแม่ ผู้ปกครองและผู้เกี่ยวข้อง ดังนั้นจะเห็นได้ว่าความเก่งพัฒนาได้ถ้ารู้วิธีและทำถูกวิธี





เอกสารอ้างอิง

จันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ . เด็กไทยใครว่าโง่ เปลี่ยนการเรียนรู้ของเด็กไทยให้ทันโลก. กรุงเทพฯ : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด ( มหาชน ), 2548.
สุวิทย์ มูลคำ และ อรทัย มูลคำ. การเรียนรู้สู่ครูมืออาชีพ. กรุงเทพมหานคร: ดวงกมลสมัยจำกัด, 2543.
กษมา วรวรรณ ณ อยุธยา. พบกันทุกวันอังคาร. http://www.moe.go.th/Tuesday/index.shtml.
อารี สัณหฉวี และอุษณีย์ อนุรุทธ์วงศ์. 15 สิงหาคม 2548. พหุปัญญา ( Online ). Available URL: http://www.thaigifted.org/
Armstrong T. 1994. Multiple intelligence ( Online ). Available URL: http://www.thomasarmstrong.com/multiple_intelligences.htm
Gardner H. 2005, August 15. Intelligence in seven steps . ( Online ). Available URL: http://www.newhorizons.org/future/Creating_the_Future/crfut_gardner.html
Multiple intelligences (Online ). Available URL: http://www.newhorizons.org/strategies/mi/front_mi.htm
Multiple intelligences (H. Gardner) (Online) . Available URL: http://tip.psychology.org/gardner.html
University of Nebraska at Ohama. (1999). Principles of Brain-Based Learning, from http://www.unocoe.unomaha.edu/brainbased.htm

1 ความคิดเห็น:

  1. ฉันกำลังศึกษาเรื่องการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน Brain Based Learning น่าสนใจมากเลยค่ะ

    ตอบลบ