โรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา

โรงเรียนมหาวชิราวุธ  จังหวัดสงขลา
ครูสอนว่า จงรักษาความดีให้เหมือนเกลือที่รักษาความเค็ม

ความรู้อยู่ไหน

ค้นคว้าหาไปหยิบใส่สมอง
โลกเราแลกว้างยิ้มอย่างพี่น้อง
หยิบกระเป๋าทอดน่อง
ย่างเท้าก้าวเดิน

วันเสาร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2552

กฎแห่งกรรมที่ได้เห็น 2


กฎแห่งกรรมที่ได้เห็น
ผู้เขียนเป็นคนที่ชอบทบทวนเรื่องราวในอดีตและนำมาคิดวิเคราะห์กับเรื่องราวในปัจจุบัน และมักนึกย้อนไปในสมัยเด็ก ๆ ภาพทั้งหลายก็แสดงขึ้นเหมือนภาพยนตร์ที่ทำให้ระลึกถึงกฎแห่งกรรมที่ได้เห็นและต้องการบอกกล่าวกับคนอื่น เพราะเห็นว่าคนยุคนี้ ช่างไม่กลัวบาปกรรมกันเลยจริง ๆ มองเห็นเป็นเรื่องไร้สาระหรือตลก ชอบเสพแต่สิ่งกระตุ้นให้เกิดความอยากได้อยากมีไม่สิ้นสุด

ภาพที่ผู้เขียนจำได้ติดตา คือ เพื่อนของผู้เขียนคนหนึ่ง เอาลูกหนูที่เกิดใหม่ ๆ ตัวแดง ๆ จำนวนเจ็ดตัว มาหย่อนลงในน้ำ เมื่อลูกหนูพยายามระเสือกกระสนว่ายขึ้นมาหายใจก็จับมายกให้สูงแล้วหย่อนลงไป จนลูกหนูหมดแรงจมน้ำเสียชีวิต และทำอย่างนี้กับหนูทุกตัวจนตายทั้งหมด ยามว่างของเขามักจะไปล่าสัตว์ในป่า ตั้งแต่เด็ก ๆ เขายิงหนังสะติ๊กแม่นมาก นกทุกตัว กะรอก จะโดนยิงที่หัวจนเละ เมื่อย่างเข้าสู่วัยรุ่นเขากลายเป็นเด็กก้าวร้าว และเรียนไม่จบ ม.6 อาศัยที่พ่อแม่ฐานะดี เขาจึงได้ทำงานในโรงพยาบาลและได้สาวงามในหมู่บ้านเป็นภรรยา ยามว่างชอบถือปืนไปล่าสัตว์ในป่า เป็นประจำ ทั้งที่อาหารการกินอุดมสมบูรณ์ และมีเงินเพียงพอกับการยังชีพ

วันหนึ่งเคราะห์กรรมมาถึงเขาได้ขี่มอร์เตอร์ไซด์วิบากคันงาม ชนเสาไฟฟ้า ศรีษะกระแทกอย่างแรง จนต้องผ่าตัดสมอง และกะโหลก รอดชีวิตมาได้แต่อารมณ์ของเขาเปลี่ยนแปลงไป ฉุนเฉียว โกรธง่าย มีเรื่องจนต้องออกจากงาน กลับมาอยู่บ้านเขากับทะเลาะกับภรรยาบ่อยครั้ง และในที่สุดได้ใช้ปืนยิงภรรยาเสียชีวิตโดยการใช้ปืนยิงผ่านหมอนขณะภรรยาหลับ ต้องหนีคดีไปอาศัยในสามจังหวัดภาคใต้หลายปี โชคดีที่มีพี่เขยมีหน้าที่การงานดีสามารถดึงคดีไว้ได้นับสิบปี

ในที่สุดก่อนคดีจะสิ้นอายุความอีกหนึ่งปีญาติของภรรยาได้ร้องเรียนอีกครั้ง ตอนนี้ บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปอิทธิพลไม่สามารถช่วยเขาได้ จึงถูกจับ ศาลพิจารณาคดีให้จำคุกยี่สิบปี

ทิ้งให้พ่อกับแม่วัยชราต้องเจ็บปวดกับลูกคนสุดท้องที่รักที่สุด และลูกชายของเขาที่กำพร้าพ่อและแม่ ซึ่งต้องกลายผู้หญิงประเภทสองไป เพราะเกลียดพ่อที่ฆ่าแม่ตนเอง

ทำไมชีวิตเขาจึงเป็นเช่นนั้น เท่าที่ผู้เขียนได้สังเกตใกล้ชิด ความก้าวร้าว ความรุนแรงเกิดจาก การเลี้ยงดูของพ่อแม่นั้นเอง เขาเป็นลูกชายคนสุดท้อง พ่อแม่หวงมาก พ่อเป็นคนไทยเชื้อสายจีน ที่เข้มงวด หากลูกทำผิดมักลงโทษรุนแรง บางครั้งใช้ไม้ขนาดใหญ่ทุบตีลูก ไปเล่นกับเพื่อนไกลบ้านไม่ได้จะถูกตามลงโทษทุกครั้ง และลงโทษแรงเกินที่เด็กวัย 5 - 7 ขวบ จะรับได้

ขึ้นต้นด้วยกฎแห่งกรรม ตอนท้ายกลายเป็นพ่อแม่รังแกฉัน ความเจ็บปวดและกดดันของเด็ก ๆ ส่งผลถึงการเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต ผู้ปกครองทั้งหลายพึงสังวร

วันพฤหัสบดีที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2552

กฎแห่งกรรม 1


สมัยเด็ก ๆ อายุ 14 ขวบผู้เขียนเป็นเด็กชนบทชาวสวน อยู่ท่ามกลางภูเขา ทุ่งนา บังเอิญสอบได้โรงเรียนมัธยมประจำจังหวัดซึ่งอยู่ห่างไกลจากบ้านหลายสิบกิโลเมตร การเดินทางไปเรียนหนังสือต้องปั่นจักรยานเป็นระยะทาง 8 กิโลเมตร นำจักรยานไปฝากไว้ที่บ้านคนรู้จัก จากนั้นขี่รถโดยสารไปโรงเรียนไป - กลับทุกวัน

บ้านที่ฝากรถจักรยานนี้เองผู้เขียนได้รู้จักชายวัยหนุ่มคนหนึ่ง มีลักษณะพิเศษขาลีบพิการทั้งสองข้างเดินไม่ได้รับจ้างซ่อมนาฬิกาและวิทยุอยูภายในบ้าน ซึ่งผู้เขียนได้พูดคุยและทักทายกับเขาอย่างสนิทสนมตามประสาเด็ก ๆและรู้สึกสงสารเขามากจึงมักนำวิทยุ นาฬิกา มาซ่อมกับเขาบ่อย ๆ และคิดกับเขาในแง่ดี พอรู้จักกันนานเข้าเขามักจะกลายเป็นคนฉุนเฉียวและโมโหง่าย การทำงานมักล่าช้าและผลัดวันประกันพรุ่งจนหลายคนเอือมระอา ค่อย ๆถอยจากเขามาในที่สุด

ด้วยวัยยังเด็กทำให้ผู้เขียนไม่เข้าใจพฤติกรรมและความแตกต่างของมนุษย์ ผู้เขียนจึงได้สอบถามเรื่องราวของเขาจากคุณย่าของผู้เขียน ซึ่งท่านสนิทสนมกับครอบครัวนี้ ท่านเล่าให้ฟังว่า

ตอนที่แม่ของเขาตั้งท้องเขาอยู่นั้น พ่อของเขาซึ่งเป็นหมอยาแผนโบราณได้เข้าไปยิงค่างในป่าเพื่อนำเลือดค่างมาผสมยา ในวันนั้นพ่อของเขาได้ใช้ปืนยิงค่างแม่ลูกอ่อนตัวหนึ่งตกลงมาจากต้นไม้สูง แม่ค่างเสียชีวิตทันที ส่วนลูกอ่อนของค่างนั้นตกกระเด็นลงมาขาหักทั้งสองข้าง พ่อของเขาได้จัดการเอาเลือดแม่ค่างแล้วจึงนำลูกค่างมาเลี้ยงที่บ้าน ลูกค่างนั้นนำมาเลี้ยงไม่ถึงสิบวันก็เสียชีวิต เพราะเดินไม่ได้และไม่มีนมให้กิน

หลังจากลูกค่างเสียชีวิตได้สามเดือนเขาก็คลอดออกมา ในลักษณะที่ทำให้พ่อแม่ญาติพี่น้องเสียใจเป็นอย่างมาก คือ มีสภาพขาพิการทั้งสองข้าง เมื่อได้เห็นสภาพลูกชายแล้ว พ่อของเขาได้เลิกฆ่าสัตว์นับตั้งแต่บัดนั้น หันมาถือศีลและประกอบกรรมดีชดใช้กรรมของตนตลอดมา

ตอนที่คุณย่าเล่าให้ฟังนั้นผู้เขียนได้เลิกโกรธเขาและรู้สึกสงสารที่เขาต้องมารับกรรมที่บุพการีได้สร้างไว้ และตั้งใจว่าเมื่อเจอเขาจะพูดดีกับเขาดังเดิม

เมื่อนึกถึงอดีตเหล่านี้ ผู้เขียนก็ระลึกได้ว่า นิทานหรือเรื่องราว ที่คุณย่าเล่าให้ฟังก่อนนอนภายใต้แสงตะเกียงน้ำมันก๊าดนั้น ได้ฝังความรู้สึกเกรงกลัวต่อบาปให้ผู้เขียนโดยไม่รู้ตัวและยาวนาน

วันศุกร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2552

อิทธิพลดาวอังคารปีเสือ


ดาวอังคาร ( MARS )
โหราศาสตร์โบราณ ถือว่าเป็นเทพแห่งนักรบ เทพเจ้าแห่งสงคราม มุทุลุดุดัน ต่อสู้ ถ้ารู้ว่าจะแพ้กลับนิ่งและสุขุมนุ่มลึก แสดงเป็นคนผอม คล้ำผิวดำแดง ถ้าเป็นหญิง ผอมสูง ปราดเปรียว ว่องไว มีบ้านอยู่ในราศีพฤศจิและราศีเมษ เป็นมานำมาซึ่งการเริ่มต้นและความตาย อาชีพ หมายถึงทหาร นักกีฬา อาชีพที่ทำการแข่งขัน อังคารในเมษ ทหารนักรบ อังคารในราศีพฤศจิทหารเสนาธิการ วัตถุแสดง อาวุธ ปืน รถไฟ รถยนต์ สินค้าที่เป็นเหล็ก เมืองชายแดนที่มีค่ายทหาร ดาวอังคารในร่างกาย หมายถึง ไต มีหน้าที่ขจัดพิษ ส่วนที่แข็งแกร่ง ต่อสู้ ให้คุณให้โทษโลดโผน รุนแรง ต้นไม้ หมายถึง ที่มีหนามคม เปลือกแข็ง ใบคม อังคารในราศีพฤศจิ มีอำนาจเหนือแมลงพิษ การวางยาพิษ ทำให้มีเมียมาก เมียเก็บ อังคารในเมษ เริ่มต้น ต่อสู้ เปิดเผย มีน้ำใจนักกีฬาอังคารในราศีเมษต่อสู้แบบเปิดเผย ลูกผู้ชาย อังคารในพฤศจิ ดูคล้ายไม่สู้คนแต่ก่อการลับ วางแผนลับสู้แบบวางแผน ใช้ให้คนอื่นตายแทน สามารถลอกเลียนแบบแล้วพลิกเป็นชัยชนะได้แบบนึกไม่ถึง
ที่พูดมานี้เพราะช่วงนี้ดาวอังคาร แรงมากลอยในภพที่ 4 ดวงเมือง ทหารแก่ ทหารเก่า ทหารเกษียณ โด่งดังไปตามกัน บทบาทของดาวอังคารเด่น ยิ่งราหูมาเล็ง ราหูเทพเจ้าแห่งความหลงเสริมให้บ้ายอบ้าอำนาจ หลงตนเอง อังคารราหู กัน หลงเมา หลงอำนาจ
ดาวอังคารจะโคจรเดินหน้าถอยหลังอยู่ในภพที่ 4 ( บ้านเรือนที่อยู่ ) ดวงเมืองกรุงเทพ จากเดือนตุลาคม 2552 ถึงปลายปี พ.ศ.2553 คงไม่ต้องบอกว่าเสียงท้อปบู๊ทของดังตลอดทั้งปี

เขียนไว้ในเวป อุดร 108 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2552

การส่งเสริมการเรียนการสอนแบบโครงงาน ( Project Design )


การส่งเสริมการเรียนการสอนแบบโครงงาน ( Project Design )
การบริหารงานวิชาการให้ประสบผลสำเร็จ ถือว่าเป็นงานที่ท้าทายของผู้บริหาร ที่จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือเป้าประสงค์ของผู้รับบริการและหน่วยงานต้นสังกัดโดยเฉพาะการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม ความถนัด ความรู้และภูมิปัญญาของชุมชน ที่จะนำมาบูรณาการให้เข้ากับหลักสูตรการเรียนการสอนในกลุ่มสาระต่าง ๆ หรือเราเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “หลักสูตรท้องถิ่น “
โรงเรียนบ้านปะโคอำเภอกุมวาปี จังหวัดอุดรธานี เป็นโรงเรียนที่ประสบผลสำเร็จในการส่งเสริมให้นักเรียนนำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอน เป็นรูปแบบการเรียนการสอนแบบโครงงานวิทยาศาสตร์ที่มุ่งส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ค้นหาความสามารถ ความถนัด และความสนใจของตนเองในด้านต่าง ๆ มาจากแนวคิดพื้นฐานของการเรียนรู้โดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
(Child Center) และการเรียนรู้ตามสภาพจริง โดยมีการศึกษาหลักการ และวิธีเกี่ยวกับโครงงานที่เลือกศึกษา วิเคราะห์ วางแผนการทำงาน ลงมือทำงาน และปรับปรุง เพื่อให้งานบรรลุตามวัตถุประสงค์ ในกระบวนการเรียนการสอนได้ใช้ทักษะกระบวนการ สอดแทรกคุณธรรม ทำงานเป็นกลุ่ม ฝึกปฏิบัติจริง เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม มีครูเป็นผู้ชี้แนะ ให้คำปรึกษาตลอดเวลา เน้นฝึกคนให้แสวงหาความรู้ด้วยตนเอง
ประโยชน์ของการจัดทำโครงงาน
1.ทำงานตามความถนัด ความสนใจของตนเอง
2.ฝึกทักษะกระบวนการทำงานด้วยตนเอง หรือร่วมกันทำงานเป็นกลุ่ม
3.สามารถวางแผนการทำงานเป็นระบบ
4.พัฒนาความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
5.ศึกษา ค้นคว้า และแก้ปัญหาจากการทำงาน
6.เป็นสิ่งยืนยันว่าเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ในโครงงานที่ทำจริง ในกรณีที่ต้องนำแสดงต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง
ความหมายของโครงงาน
โครงงาน หมายถึง การกำหนดรูปแบบในการทำงานอย่างเป็นระเบียบ มีกระบวนการทำงานที่ชัดเจน เพื่อให้สามารถผลิตชิ้นงาน และ ผลงานที่สัมพันธ์กับหลักสูตรและนำไปใช้ประโยชน์กับชีวิตจริง

ประเภทของโครงงาน แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ
1. ประเภทการศึกษาทดลอง เป็นการศึกษาเปรียบเทียบหรือพิสูจน์ความจริงตามหลัก
วิชาการอย่างเป็นเหตุเป็นผลหรือค้นหาข้อเท็จจริงในสิ่งที่ต้องการรู้ เช่น แสงมีผลต่อการเจริญเติบโตของพืช, อาหารพื้นบ้านกับการเจริญเติบโตของไก่
2. ประเภทสำรวจข้อมูล เป็นการสำรวจรวบรวมข้อมูลแล้วนำข้อมูลนั้น ๆ มาจำแนกเป็นหมวดหมู่ และนำเสนอในรูป แบบต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้ในการวางแผนหรือพัฒนางาน หรือปรับปรุงงาน เช่น การสำรวจการขาดสารไอโอดีนในชุมชน, การสำรวจการเรียนต่อของเยาวชนอำเภอสำโรงทาบ ในปี 2542
3. ประเภทสิ่งประดิษฐ์ เป็นการผลิตชิ้นงานใหม่ และศึกษาคุณภาพ ประสิทธิภาพ ประโยชน์คุณค่าของชิ้นงานนั้น ๆ เช่น เครื่องฟักไข่, ระบบน้ำหยดเพื่องานเกษตรโดยใช้กระป๋องน้ำมันเครื่อง
4. ประเภทพัฒนาผลงาน เป็นการค้นคว้าหรือพัฒนาชิ้นงานให้สามารถใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น หรือมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เช่น การประดิษฐ์อุปกรณ์นับจำนวนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์, การประดิษฐ์เครื่องโรยขนมจีน
บทบาทของผู้เรียน การสอนแบบโครงงาน (Project Design)
1.ค้นคว้าและฝึกฝน การเขียนโครงงาน โครงงาน
2.ศึกษาข้อมูลของสิ่งที่ศึกษาให้เข้าใจและจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ
3.วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้มาวางแผนจัดทำสิ่งใหม่
4.ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้ได้แผนงานที่ดีที่สุด
5.เขียนโครงงานวางแผนการทำงาน
6.ปฏิบัติตามโครงงานให้สำเร็จลุล่วงหรือพัฒนาต่อเนื่องจากพบกับอุปสรรค
7. ประเมินผลโครงงาน
สำหรับโครงงานของโรงเรียนบ้านปะโคเป็นโครงงานวิทยาศาสตร์ประเภททดลองและประดิษฐ์ โดยใช้ภูมิปัญญาของท้องถิ่นเข้ามาประสมประสาน ซึ่งมีคุณครู นันทิยา พิทักษ์รัตนชนม์ ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนบ้านปะโค และทีมงานเป็นผู้ฝึกสอนนักเรียน โครงการของนักเรียนที่ทำไปแล้วประสบความสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ ได้แก่
1.โครงงานประเภททดลอง
1.1 โครงงานกระเตี้ยวหมวยประหยัดพลังงานได้รับรางวัลชนะเลิศ ระดับช่วงชั้นที่ 3จากมูลนิธิพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่จังหวัดนครราชสีมา ในปี การศึกษา 2551
1.2.โครงงานกระติ๊บข้าวมหัศจรรย์ ได้รับรางวัลเหรียญเงิน ระดับชาติ ระดับประถมศึกษา จากสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2552
2.โครงงานประเภทสิ่งประดิษฐ์
2.1โครงงานเครื่องแกะข้าวโพด จากวัสดุท้องถิ่น ได้รับรางวัลเหรียญทอง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุดรธานีเขต 2 และเป็นตัวแทนเข้าประกวดระดับภาคที่จังหวัดอุบลราชธานี
2.2 โครงงานน้ำตกแต่งสวนจากวัสดุท้องถิ่น ได้รับรางวัลเหรียญทอง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุดรธานีเขต 2 และเป็นตัวแทนเข้าประกวดระดับภาคที่จังหวัดอุบลราชธานี
3.โครงงานประเภทพัฒนาผลงาน ได้แก่ การทำข้าวเกรียบโบราณโดยประยุกต์ให้ใช้สีสมุนไพรธรรมชาติแสดงในงานประชุมครูอาเซียน ในเดือน กุมภาพันธ์ 2552 ณ โรงแรมเจริญโอเต็ล จังหวัดอุดรธานี

การได้รับรางวัลและการได้แสดงในระดับชาติดังกล่าว แสดงให้เห็นของศักยภาพของนักเรียน ครูและการบริหารจัดการทางวิชาการที่แสดงถึงความสำเร็จหลายประการกล่าวคือ

1.นักเรียนได้ประสบผลสำเร็จในการค้นคว้าจัดทำโครงงานสามารถฝึกฝนจนสามารถคิด วิเคราะห์ได้ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของการเรียนการสอน
2.ความสามารถของครูผู้ถ่ายทอด ที่ได้นำความรู้และหลักการเรียนการสอนอย่างถูกต้องและเป็นกระบวนการมีการบูรณาการระหว่างครูภาษาอังกฤษ ครูการงานอาชีพ และครูวิทยาศาสตร์
กล่าวคือ ครูการงานมีความรู้เรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่น ครูวิทยาศาสตร์เข้าใจหลักการทางวิทยาศาสตร์ และครูภาษาอังกฤษสอนให้นักเรียนรายงานอธิบายโครงการเป็นภาษาต่างประเทศ ทำให้นักเรียนมีความรู้ในสามรายวิชาโดยเป็นธรรมชาติและกลมกลืน
3.ความสำเร็จในความร่วมมือกับชุมชน ในการให้ผู้มีความรู้หรือภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ช่วยสอนนักเรียน จนทำให้นักเรียนสามารถนำมาต่อยอดสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ได้
4.การส่งเสริมและการเอาใจใส่ของผู้บริหารในการสนับสนุนให้งานและโครงการได้รับงบประมาณและเผยแพร่ต่อเครือข่าย ชุมชนและผู้รับบริการ

อย่างไรก็ตามการจัดการเรียนการสอนสอนให้นักเรียนได้รู้จักคิดวิเคราะห์ด้วยการเรียนการสอนแบบโครงงานนั้นเราจำเป็นต้องพัฒนาอีกมากเนื่องจากเด็กไทยยังเคยชินกับการออกคำสั่ง และครูเองยังใช้ตนเองเป็นศูนย์กลางเป็นส่วนใหญ่ ความสำเร็จของนักเรียนไทยอาจกล่าวได้ว่ายังต้องใช้เวลาอีกหลายปี จึงจะเข้าใจการเรียนรู้และคิดวิเคราะห์ได้ด้วยตนเองอย่างแท้จริง


อ้างอิง

เว็บไซด์
www.suphet.com/index.php
สัมภาษณ์
นันทิยา พิทักษ์รัตนชนม์ . ผู้ให้สัมภาษณ์ เกื้อกูล ขวัญทอง ผู้สัมภาษณ์ สัมภาษณ์
เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2552 ณ โรงเรียนบ้านปะโค ตำบลปะโค อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี

งานส่งวิชา ด.ร.สวัสดิ์ โพธิวัฒน์ การบริหารทรัพยากรทางการศึกษา

วันพฤหัสบดีที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ความก้าวหน้าของการเมืองไทย เหนือชาติใดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


ข่าวคราวของสื่อและการต่อสู้ทางการเมืองของไทย หลายคนอ่านข่าวและอาจท้อแท้ใจ หรือเบื่อหน่ายทางการเมือง การเสนอข่าวในภาพร้ายหรือขายข่าวร้ายของสื่อและการปลุกระดมโฆษณาชวนเชื่ออาจทำให้หลายคน มองประเทศของเราว่าเป็นกลียุค คงจะล่มจมในไม่ช้า
ในมุมมองของผู้เขียน ไม่ได้มองอย่างนั้นแต่กลับเห็นเส้นทางอันสดใสของการเมืองไทยในอนาคต คลายกับดักแด้ที่ต้องผ่านความเจ็บปวดในการลอกคราบเพื่อเป็นผีเสื้อนั้นเอง เมื่อเรามองผ่านไปยังประเทศเพื่อนบ้าน คล้ายกับสงบและมีสันติ เป็นประเทศไม่มีปัญหา แท้จริงแล้ว เขายังตามหลังเราอีกมากและอีกนานที่จะทำได้อย่างเรา
ลาวยังคง ตกอยู่ภายใต้รัฐบาลคอมมิวนิสต์ ที่ปกครองโดยพรรคเดียว การเลือกตั้ง ที่เลือกได้เพียงพรรคเดียว คงไม่ต้องบอกว่า ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพที่แท้จริงหรือไม่ สือ่ต่าง ๆ ไม่มีโอกาสขัดแย้งรัฐบาล ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลไมสิทธิโฟนอิน ไม่มีสิทธิออกโทรทัศน์หรือสื่อ อาจถูกล่าสังหารได้โดยไม่มีการประนีประนอม สำหรับการคอร์รัปชั่น คงไม่ตองพูดมากนักธุรกิจไทยคงรู้ดี
เวียดนามนั้นก็ไม่ต่างจากลาวนัก การมีอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จของพรรคคอมมิวนิสต์ ไม่ต้องกล่าวว่า จะมีความคิดเห็นที่แตกต่างเกิดขึ้นในประเทศนี้ ผู้คิดต่างจากพรรคมีที่ยืนหรือไม่ สำหรับลาวและเวียดนามมีดีที่มีชาตินิยม และดูแลทรัพยากรของตน ไม่ให้นายทุนเข้าไปผลาญได้ และมีการพัฒนาเยาวชนอย่างเข้มแข็งและเข้มงวด
ประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ มีพรรคเดียวครองอำนาจมายาวนาน และบ่อนทำลายฝ่ายตรงข้ามหรือฝ่ายค้านจนไม่มีที่ยืนในสภา แม้ในพรรคเดียวกันที่คิดต่างกันก็ใส่ร้ายกันจนเข้าคุกมาแล้วสื่อฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลถูกตรวจสอบอย่างเคร่งครัด สื่อสิงคโปร์จึงชอบประจานประเทศไทย เพราะ
วิจารณ์บ้านตนเองไม่ได้ ไม่ต้องพูดถึงกฎหมาย ที่ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชน เป็นอย่างมาก ในการลงโทษ แบบไร้มนุษยธรรม
สิ่งที่ดีกล่าวคือ ทั้งมาเลเซียและสิงคโปร์สามารถกำหราบนายทุน ให้อยู่ในกรอบรัฐบาลได้ การผูกขาด การเอาเปรียบของทุนนิยม จึงน้อยกว่าไทย ระบบราชการที่มีคุณภาพ และการจัดการศึกษาที่ดีกว่า ทำให้ มีเศรษฐกิจดี เป็นตัวของตัวเอง
พม่ารัฐบาลทหารพม่า มีชื่อเสียงอย่างไร เป็นประชาธิปไตยหรือไม่ คงไม่ต้องอธิบาย ภาพพระสงฆ์ ถูกปราบ ทำร้าย บอกชัดเจน
ไทยเรานั้นก้าวมาถึงขั้น คนชั้นล่างตื่นตัวทางการเมือง มีการต่อสู้ทางการเมืองอย่างเปิดเผย และเปิดโอกาสให้สื่อ บุคคล เลือกข้างและแสดงออกได้อย่างเต็มที่ บ้างครั้งก็เกินเลย แต่ถามว่า ประเทศอื่น ทำได้ไม่ ไม่ได้ครับ ฝ่ายค้านไทย เป็นฝ่ายค้านที่มีพลังสูง รัฐบาลเองก็มีการเปิดโอกาสเวที ให้อย่างกว้างขวาง ยกเว้นวันที่ 7 ตุลาคม 2551 เล่นหนักไปหน่อย แต่ก็สามารถกลับคืนภาวะปกติได้ ประเทศไทยจึงมีการตรวจสอบการทำงานของรัฐและราชการที่เข้มงวดมากขึ้น อย่างไม่เคยมีมาก่อน เราจึงหาความสงบได้ยากเพราะเราเคยกับการถูกกดหัวมาตลอด ตอนนี้มีศาลปกครอง องค์กรอิสระ ที่สามารถตรวจสอบได้มากขึ้น สำหรับคนที่เคยชินกับขอรับกระผม จึงดูวุ่นวาย แตกแยก
การปะทะของนายทุนใหม่และศักดินาผสมนายทุนเก่าคงจะ ทำให้ประชาธิปไตยไทยดีขึ้นไม่น้อย อย่างไรก็ดี อนาคตเราควร จับพวกเชิดหุ่นทั้งหลายมาเก็บภาษีและลดการผูกขาดได้แล้ว เพราะชอบทำนาบนหลังคน ได้แก่ บริษัทรถญี่ปุ่น บริษัทการเกษตรใหญ่ บริษัทพลังงาน และรัฐวิสาหกิจล้าสมัย ธนาคารจอมขูดรีด นักเล่นหุ้นจับเสือมือเปล่าพวกนี้ รวยอยู่บนความขัดแย้ง จริง ๆ
เราต้องการประชาธิปไตยเพื่อปวงชน ไม่ใช่ประชาธิปไตยเพื่อนายทุน

วันศุกร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ดาวเสาร์วิเคราะห์ตามหลักโหราศาสตร์


ดาวเสาร์


เป็นเทพแห่งความอดทน บึกบึน ต่อสู้ ยาวนาน ในทางโหราศาสตร์ หมายถึง ชนชั้นแรงงาน ประชาชนชั้นล่าง กำนันผู้ใหญ่บ้าน ผู้ประกอบอาชีพ อสังหาริมทรัพย์ และนักปกครองที่ต้องเกี่ยวข้องกับคนจน ภูเขา และแผ่นดินกันดาร เคร่งครัดในประเพณี และมีระบบระเบียบเข้มงวด หากเป็นลัทธิการเมือง มักชอบลัทธิเผด็จการ ให้โทษอย่างน่ากลัวและให้คุณอย่างแน่นหนามั่นคง ผู้ที่มีดวงดาวเสาร์เด่น จึงทนทุกข์ก่อนเสมอ จนถึงครึ่งชีวิตแล้วกลับผงาดอย่างมั่นคง ชอบหวาดระแวง เก็บกด ขี้อิจฉา ไม่แสดงออก ชอบอาหารรสเปรียว หากเป็นต้นไม้ ได้แก้ต้นไม้รสเปรี้ยวทั้ง มวลหากเป็นประเทศได้แก่ ประเทศจีน เกาหลี ไต้หวัน อิสราเอล สกอตแลนค์ เวียดนาม และดินแดนที่ลัทธิขงจื้อมีอิทธิพลต่อความเชื่อ ประเทศเหล่านี้ผ่านการดิ้นรนต่อสู้มาอย่างโชกโชน พบกับความทุกข์ทรมาน มามากกว่าชาติอื่น มักเจอมหันตภัยให้เจ็บปวดอยู่เสมอ มีความเคร่งครัดในระเบียบวินัย ประเพณี อดทน อย่างไม่มีชาติใดเสมอเหมือนได้
เจ็ดปีมานี้ อำนาจของดาวเสาร์ มีพลังสูงมาก เศรษฐกิจของจีนสูงที่สุดในโลก และสามารถส่งยานอวกาศโคจรนอกโลกได้ได้จัดกีฬาโอลิมปิค ( ดาวเสาร์อยู่ใกล้ดาวมฤตยู )เวียดนาม เกาหลี อิสราเอล มีพลังโด่งดังและประสพผลสำเร็จในเวทีเศรษฐกิจ และกิจกรรมอื่น ๆ ได้อย่างน่าทึ่งในประเทศไทยดาวเสาร์ ได้ผงาดขึ้นด้วยนโยบายเพื่อคนจน นโยบายประชานิยม ( ดาวเสาร์อยู่ใกล้ดาวเนปจูน ) พรรคที่นำโดยคนจีนเชื้อสายแคะได้รับการเลือกตั้งยืนนานถึงแปดปี และทำให้คนจนในภาคอิสาน เหนือ รวมตัวเลือกพรรคการเมือง พรรคเดียวได้เป็นครั้งแรก ซึ่งในอดีตไม่เคยทำได้เช่นนี้ สร้างความสั่นสะเทือนให้กับความเคยชินเดิม ๆ ของการเมืองไทยเป็นอย่างมาก วัยรุ่นทั่วเอเชีย ถูกแฟชั่น และภาพยนตร์ของเกาหลีเข้าครอบงำ และทำตาม ภาพยนตร์เกาหลีได้รับความนิยมเหนือภาพยนตร์ทีวีของชาติเจ้าของประเทศ สินค้าจีน เกาหลีบุกตีตลาดทั่วโลกและเอเชีย ได้ดุลการค้าอย่างมหาศาล
ที่กล่าวมานี้ ด้วยในเดือนกันยายนปี 2552 ดาวเสาร์จะย้ายราศีเข้าสู่มุมอับของดวงเมือง อิทธิพลที่ส่งผลต่อประเทศไทย จะน้อยลงไปถึงสามปี อิทธิพลดังกล่าวอาจจะถดถอยลง และจะกลับคืนมาอีก ในปี 2555 ดาวเสาร์จะเล็งดวงเมืองประเทศไทยและมีกำลังมากอย่างยิ่ง ประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง ใครมีเงินเหลือเก็บ ซื้อที่ดินถูกเอาไว้นะครับ รออีกสามปีค่อยขาย ใครมีเงินน้อย อย่าเสี่ยง


การวิเคราะห์อิทธิพลดาวเสาร์ในครั้งนี้ ได้เรียนรู้จาก ตำราของ ท่านพลูหลวง โหรหลวง ศิลปินแห่งชาติ




เขียนไว้ในกระทู้ ดูดวงให้ฟรีไม่คิดเงิน www.udon108.com เมื่อ 14 มกราคม 2552

คำปราศรัยในตู้กระจก




คำปราศรัยในตู้กระจก

ไฟเรียงรายตู้กระจกกั้น
เรียงลดหลั่นล้วนคนสวยขายความสาว
ห้องแคบคับอับเหม็นด้วยกลิ่นคาว
เชิดหน้าสู้ตาวาวทั้งใจตรม
มีทีวีที่วางไว้กลางตู้
ใครไม่รู้พูดเพราะช่างเหมาะสม
มาดสง่าน่าศรัทธามีคารม
จะแก้ปมปัญหาค้าประเวณี
เธอขายตัวสิบสองขวบจวบสิบเก้า
เร่งทำงานใช้เขาให้หมดหนี้
เคยสวยสุดทรุดโทรมช้ำสิ้นดี
เหลือใจที่แข็งขืนฝืนข่มทน
ผ่านนายหน้าแม่เล้ามาเข้าซ่อง
จากเมืองเหนือขึ้นล่องลงหลายหน
จากเมืองบางกอกหรูสู่ตำบล
ขายให้คนทุกข์แค้นแดนกันดาร
ลมหายใจอ่อนล้าเหนื่อยเต็มที
สรรพางค์กดขี่ชินชาด้าน
ถูกขู่เข็ญขังกักจนดักดาน
โลกวัยหวานเป็นอย่างไรไม่เคยรู้
ไฟเรียงรายตู้กระจกซี่กรงนั้น
เธอนิ่งงันฟังปราศรัยที่ในตู้
ชายกลัดมันชี้เธอเพิ่มประตู
ไม่อาจอยู่ดูคนเด่นเล่นละคร



แต่งไว้เมื่อปี 2537 ช่วง นายชวน หลีกภัย ประกาศปราบขบวนการค้าประเวณี



.

บทละครสั้นดอกไม้ลืมราก



บทละครสั้นดอกไม้ลืมราก ตัวละคร
๑.ดอกไม้งาม
๒.ราก
๓.เหมันตฤดู
เปิดม่าน......................
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
ดอกไม้สดสวยชูช่องามสง่า
เชิดหน้าท้าลมไสว
ภู่ผึ้งล้อมรักเธอปักใจ
โลกสดใสงามตระการ
ดอกไม้จึงผยองว่า........................................
รากเอ๋ยไหนเลยเจ้าจมอยู่ใต้ดินเล่า
โง่เง่าซึมเศร้าไม่สุขศานติ์
ดำมืดจืดชืดดักดาน
พบพานตุ่นหนูอยู่ทุกวาร
จงโผล่มาดูโลกศิวิไล
อลังการเลิศไปทุกถิ่นฐาน
หมู่เพื่อนล้วนรักเบิกบาน
แสนสำราญสว่างไสวเรืองรอง
รากจึงว่า.....................................................
เชิญท่านพบพานพิมานแมน
สร้างลูกหลานทั่วแดนอย่าผยอง
เมื่อมีความสุขบนถิ่นทอง
จงเล่าเรื่องทั้งผองสู่ข้าฟัง
ข้าน้อยยินดีฟังความงามที่ท่านพบ
ชื่นชมท่านประสบสิ่งสมหวัง
ขอดูดน้ำฉ่ำชื้นฟื้นพลัง
ให้ลำต้นแกร่งตั้งเขียวขจี
เหมันตฤดูผ่านมาได้ยินกล่าวว่า.......................................
ดอกไม้เอ๋ยบัดนี้ถึงเวลาเจ้าโรยราแล้ว
จงผลัดทิ้งดอกแก้วสวยสดสี
หล่นร่วงโรยลงดินนับแต่นี้
ขวบปีดอกใหม่จะกลับคืน ฯ
ปิดม่าน............................................................................

ศานติศุกร์ ตุลา
๔ มีนาคม ๒๕๔๗

รจนา


ความรักรักแท้แน่ในรัก ใช่ว่าจักมืดมัวมองหลงไหล
รักแจ่มด้วยปัญญาพาหัวใจ สว่างใสดั่งแก้วส่องแวววาว
เห็นความดีที่ทำเป็นทองแท้ ดำแต่นอกในแผ่ออกผ่องขาว
อยู่ในโคลนเพชรแท้ยิ่งแลพราว ดั่งดวงดาวเมฆาใหญ่ไม่อาจบัง
รจนาเห็นทองในรูปเงาะ งามเหมาะเจาะแจ่มทองของพระสังข์
พวงมาลัยน้อยลอยให้ไปจากวัง ด้วยมุ่งหวังเชื่อความดีที่ในคน

วันพฤหัสบดีที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2552

บุษบา



งามพริ้งเพริศพิลาศ ใสสะอาดมณีศรี
เฉิดฉายกัลยาณี ชายหมายโน้มมาโลมชม
กิริยาอ่อนเอวองค์ เทพไท้หลงลงติดหล่ม
ลืมกายหมายจึงตรม อิเหนาเศร้าเจ้าจากลา

วันอังคารที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2552

นโยบายการศึกษาไทยกับการปลูกฝังระบอบประชาธิปไตยให้แก่เยาวชน


บทความเรื่อง
นโยบายการศึกษาไทยกับการปลูกฝังระบอบประชาธิปไตยให้แก่เยาวชน

ประเทศไทยในปัจจุบันมีสภาพทางการเมืองที่ไม่ลงตัว มีการแตกแยกปะทะทางความคิดอย่างรุนแรง ทำให้หวั่นเกรงว่าสังคมไทยจะหาทางออกไม่ได้และนำไปสู้ความตกต่ำในด้านต่าง ๆ ซึ่งผู้เขียนมีความรู้สึกเป็นห่วงปรากฏการณ์ เพราะทุกคนมัวเต้นไปกับกระแสประจำวัน คือการเสนอข่าวสารของสื่อ และการโฆษณาชวนเชื่อของแต่ละฝ่าย ซึ่งในสังคมไทยกำลังตกอยู่ในภาวะขาดที่พึ่งทางความคิดและแบบอย่างอันเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ยิ่งจากผลการวิจัยพบว่าเยาวชนของไทยมองการเมืองเป็นเรื่องน่าเบื่อหน่าย และมีนักศึกษาที่เข้าร่วมในกิจกรรมที่เป็นประชาธิปไตยค่อนข้างน้อย สำหรับผู้ที่มาร่วมชุมนุมทางการเมืองส่วนใหญ่เป็นคนอายุมากซึ่งมักจะ 40 ปี ขึ้นไป ทำให้เป็นห่วงว่าในอนาคต เราจะได้นักการเมืองแบบใด มีอุดมการณ์ที่เสียสละหรือไม่ การปลูกฝังประชาธิปไตยต่อเยาวชนจึงเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ในสภาวะความขัดแย้งนี้ เราจำเป็นต้องสร้างเยาวชนรุ่นใหม่ที่มีความรู้และเข้าใจการเมืองอย่างแท้จริง จึงจะสามารถวิเคราะห์ ได้อย่างเข้าใจ และเท่าทันกับสิ่งที่แอบแฝงประชาธิปไตย เข้ามามีอิทธิพลทางการเมือง
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้ให้ความสำคัญต่อการศึกษาของไทยว่า
“ พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการจัดการศึกษาในทุกระดับและทุกรูปแบบ ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม จัดให้มีแผนการศึกษาแห่งชาติ กฎหมายเพื่อพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ จัดให้มีการพัฒนาคุณภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาให้ก้าวหน้าทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก รวมทั้งปลูกฝังให้ผู้เรียนมีจิตสำนึกของความเป็นไทย มีระเบียบวินัย คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม และยึดมั่นในการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
จะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญได้กำหนดให้การจัดการศึกษาต้องมีการส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เข้าใจถึงระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและมีจิตสำนึกในการคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวม ซึ่งกฎหมายหรือนโยบายของหน่วยงานอื่นต้องสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตามการแถลงการณ์นโยบายทางการศึกษาของนายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภาด้านการศึกษาไม่ได้กล่าวถึงการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขไว้โดยตรง หากแต่ได้กำหนดให้มีการสอนวิชาประวัติศาสตร์เพื่อให้นักเรียนมีความรักชาติ และจงรักภักดีต่อชาติเป็นหลัก
หากมองไปยังนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปีงบประมาณ 2552 ซึ่งมีทั้งหมด 6 ข้อ คือ
1. ปลูกฝังคุณธรรม ความสำนึกในความเป็นชาติไทยและวิถีชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่นักเรียนทุกคน
2. เพิ่มอัตราการเข้าเรียนในทุกระดับ ทั้งเด็กทั่วไป ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส ลดอัตราการออกกลางคัน และพัฒนารูปแบบการให้บริการการศึกษาขั้นพื้นฐานแก่เยาวชนที่อยู่นอกระบบการศึกษา
3. ยกระดับคุณภาพสถานศึกษาสู่มาตรฐานการศึกษาของชาติ พัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างเป็นระบบ เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานและการเรียน การสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญที่มุ่งพัฒนาผู้เรียนตามมาตรฐานของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างเต็มตามศักยภาพ
4. เร่งรัดพัฒนาความพร้อมในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารให้แก่สถานศึกษาและหน่วยงานการศึกษาในสังกัดเพื่อการเรียนรู้และการบริหารจัดการ
5. สร้างความเข้มแข็งและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการบริหารและ การจัดการศึกษาเพื่อรองรับการกระจายอำนาจอย่างมีประสิทธิภาพบนหลักธรรมาภิบาลในสำนักงาน เขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา
6. เร่งพัฒนาการศึกษาและคุณภาพชีวิตนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้
จากทั้ง 6 ข้อไม่มีข้อใดกล่าวถึงการส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตยซึ่งเป็นต้นตอปัญหาของสังคมไทยในปัจจุบันโดยตรงเลย ในนโยบายข้อที่ 6 นั้นก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยอยู่บ้าง ในเรื่องการกระจายอำนาจตามหลักธรรมภิบาล ซึ่งนโยบายในข้อ 6 นี้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาก็ได้นำไปกำหนดเป็นนโยบายการส่งเสริมกิจกรรมประชาธิปไตยในโรงเรียน

อย่างไรก็ตามในการประเมินการประกันคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนได้กำหนดให้ทุกโรงเรียนจัดกิจกรรมส่งเสริมประชาธิปไตยตาม มาตรฐานที่ 15 กล่าวคือ สถานศึกษาต้องมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมคุณภาพผู้เรียนอย่างหลากหลาย ในตัวบ่งชี้ที่ 15.7 ต้อง มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตย โดยมุ่งเน้นการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนและบรรยากาศในโรงเรียนที่ส่งเสริมความรู้ความ เข้าใจ ลักษณะนิสัยและพฤติกรรมประชาธิปไตย สถานศึกษาในทุกระดับจึงมีการจัดกิจกรรมที่เป็นประชาธิปไตยอย่างเป็นระบบเป็นส่วนใหญ่ เพื่อรองรับการประเมินของของสมศ.
จากนโยบายดังกล่าวข้างต้นผู้บริหารจะต้องดำเนินการพัฒนาความคิดที่เป็นประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในสถานศึกษาของตนให้ได้ การสร้างประชาธิปไตยในโรงเรียน จะเป็นการส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ตระหนักถึงความสำคัญของระบอบประชาธิปไตยซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับการนำไปใช้สังคมและชุมชน เป็นการเตรียมความพร้อมผู้เรียนให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต เป็นการสร้างลักษณะนิสัยให้ผู้เรียนได้รู้จักระเบียบ ข้อบังคับ กฎเกณฑ์และกติกาของสังคม ตลอดจนรู้จักรับผิดชอบหน้าที่ของตน ทีมงาน รับผิดชอบชุมชน และสังคมได้อย่างเหมาะสม โดยโรงเรียนต้องนำรูปแบบประชาธิปไตยมาใช้ในโรงเรียน เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีความเป็นประชาธิปไตย รู้จักปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามภาระหน้าที่ และมีวิถีชีวิตตามหลักประชาธิปไตย สามารถดำรงตนให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเป็นประชาธิปไตย ผู้บริหารการศึกษาทุกท่านในฐานะที่เป็นผู้ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในการจัดการเรียนการสอน จึงควรสนับสนุนสิ่งต่างๆ ดังนี้
1. กิจกรรมส่งเสริมประชาธิปไตยในโรงเรียน เช่น กิจกรรมคณะกรรมการนักเรียน กิจกรรมวันสำคัญ กิจกรรมดำเนินตามนโยบาย กิจกรรมสร้างเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ กิจกรรมพิเศษต่าง ๆ กิจกรรมกลุ่มการแสดง กิจกรรมชมรมและองค์กรต่าง ๆ ตลอดจนกิจกรรมกีฬา เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมประชาธิปไตยในโรงเรียนเป็นอย่างดี
2. ต้องส่งเสริมการสร้างบรรยากาศประชาธิปไตย โดยการจัดบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมภายในโรงเรียนให้ดี จะช่วยเสริมสร้างแนวความคิด จิตใจที่เป็นประชาธิปไตย ด้วยเหตุว่าคนที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมใด ย่อมต้องปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมนั้นให้ได้จึงจะสามารถดำรงชีวิตและอยู่ร่วมในสังคมนั้นอย่างเป็นสุข การสร้างบรรยากาศประชาธิปไตย จึงถือว่าเป็นการสร้างระบบและการยอมรับซึ่งกันและกัน
3. ส่งเสริมครูทุกคน ให้จัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับประชาธิปไตยโดยให้สอดแทรกอย่างสม่ำเสมอทั้งในห้องเรียน และนอกห้องเรียนโดยสัมพันธ์กับวิชาที่ตนเองรับผิดชอบ
4. ส่งเสริมผู้เรียนให้เข้าใจในความเป็นประชาธิปไตย รู้จักปกครองตนเอง สามารถแสดงความคิดเห็นและยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น มีระเบียบวินัย มีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม และสามารถนำความเป็นประชาธิปไตยไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสม
เพราะฉะนั้นผู้บริหารการศึกษาจำเป็นต้องปฏิรูปการเรียนการสอนและการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนในชั้นเรียนใหม่เพื่อสร้างบรรยากาศในสถานศึกษา ให้เกิดขึ้นบรรยากาศประชาธิปไตย
หรือจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนมีวิถีประชาธิปไตยคือการนำหลักประชาธิปไตยมาใช้ในชีวิตประจำวันจนเป็นนิสัย เน้นหลักธรรม ดังนี้
1.ด้านคารวธรรม มีพฤติกรรมที่แสดงออก ดังนี้
1.1 เคารพในสถาบันพระมหากษัตริย์
- การแสดงความเคารพเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ในทุกโอกาส
- การร่วมกิจกรรมต่างๆที่จัดเพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ในโอกาสวันสำคัญต่างๆ
- การไปรับเสด็จเมื่อพระมหากษัตริย์ หรือพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จไปในถิ่นที่อยู่ หรือบริเวณใกล้เคียง
- การปฏิบัติต่อสัญลักษณ์ที่แสดงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น ธงชาติ พระบรมฉายาลักษณ์ เพลงสรรเสริญพระบารมี ฯลฯ ด้วยความเคารพ เมื่อได้ยิน หรือเห็นบุคคลใดแสดงกิริยาวาจา หรือมีการกระทำอันไม่สมควรต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ต้องกล่าวตักเตือนและห้ามไม่ให้ปฏิบัติเช่นนั้นอีก
1.2.เคารพซึ่งกันและกันทางกาย
- การทักทาย
- การให้เกียรติผู้อื่น
- การแสดงความเคารพแก่บุคคลซึ่งอาวุโสกว่า
- การให้การต้อนรับแก่บุคคล
- การแสดงความเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน
1.3 เคารพกันทางวาจา
- การพูดให้เมาะสมกับกาลเทศะ
- การใช้คำพูดเหมาะสมตามฐานะของบุคคล
- การพูดจาสุภาพ ไม่ก้าวร้าว ส่อเสียด
- การไม่พูดในสิ่งที่จะทำให้ผู้อื่น เกิดความเดือดร้อน
- ไม่นำความลับของบุคคลอื่นไปเปิดเผย
- ไม่พูดนินทาหรือโกหกหลอกลวง
1.4.เคารพสิทธิของผู้อื่น
- การไม่ล่วงละเมิดสิทธิของผู้อื่น ทั้งทางกายหรือวาจา
- การรู้จักเคารพในสิทธิของคนที่มาก่อนหลัง
- การเคารพในความเป็นเจ้าของ สิ่งของเครื่องใช้
- การรู้จักขออนุญาต เมื่อล่วงล้ำเข้าไปในที่อยู่อาศัยของบุคคลอื่น
1.5 เคารพในความคิดเห็นของผู้อื่น การยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น เมื่อมีผู้พูดเสนอความคิดเห็น ควรฟังด้วยความตั้งใจและใคร่ครวญด้วยวิจารญาณ หากเห็นว่าเป็นการเสนอแนวความคิดที่ดี มีประโยชน์มากกว่าความคิดเห็นของตนเองก็ควรยอมรับและปฏิบัติตาม
1.6 เคารพในกฎระเบียบของสังคม การยึดมั่นในกฎระเบียบของสังคม เช่น วัฒนธรรมประเพณี กฎเกณฑ์ของสังคม และกฎหมายของประเทศ
1.7 มีเสรีภาพและใช้เสรีภาพในขอบเขตของกฎหมายและขนบธรรมเนียมประเพณี ด้าน
2.สามัคคีธรรม มีพฤติกรรมที่แสดงออกดังนี้
2.1 การรู้จักประสานประโยชน์ โดยถือประโยชน์ของส่วนรวม หรือประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้ง ได้แก่
- การทำงานร่วมกันอย่างสันติวิธี
- การรู้จักประนีประนอม โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่ส่วนรวมเป็นใหญ่
- การเสียสละความสุขส่วนตน หรือหมู่คณะ เพื่อประโยชน์ของส่วนรวมหรือของชาติร่วมมือกันในการทำงาน หรือทำกิจกรรมอย่างหนึ่งอย่างใดร่วมกัน โดยมีบุคคลผู้ร่วมงาน ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ในการทำงานร่วมกันนี้ จะต้องมีการวางแผนในการทำงานร่วมกัน เมื่อถึงขั้นตอนของการทำงานก็ช่วยเหลือกันอย่างตั้งใจ จริงจัง ไม่หลีกเลี่ยงหรือทำแบบเอาเปรียบผู้อื่น
2.3 เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม
2.4 รับผิดชอบต่อหน้าที่ ที่ได้รับมอบหมายจากส่วนรวมและหน้าที่ต่อสังคม
2.5 ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนในกลุ่ม ในหน่วยงานและสังคม
3.ด้านปัญญาธรรม มีพฤติกรรมที่แสดงออก ดังนี้ 3.1 การไม่ถือตนเป็นใหญ่
- การรู้จักรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
- การยอมรับฟัง และปฏิบัติตามมติของเสียงส่วนมากในที่ประชุมหรือในการทำงานต่างๆ
- การรู้จักเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี
3.2 เน้นการใช้ปัญญา ใช้เหตุผลและความถูกต้อง ในการตัดสินปัญหาทั้งปวง ไม่ใช่ใช้เสียงข้างมาก ในการตัดสินปัญหาเสมอไป 3.3 เมื่อมีปัญหาใดเกิดขึ้น หรือเมื่อมีเรื่องที่จะต้องตัดสินใจ ทุกคนต้องร่วมกันคิดและร่วมกัน ตัดสินใจโดยใช้เหตุผล
3.4 ในกรณีที่มีปัญหาโต้แย้งในหมู่คณะ จะต้องพยายามอภิปราย จนกระทั่งสามารถชักจูงให้ทุกคนเห็นคล้อยตาม เมื่อเกิดกรณีที่ต่างก็มีเหตุผลที่ดีด้วยกัน และไม่อาจชักจูงให้กลุ่มหันไปทางใดทางหนึ่งเท่านั้น จึงจะใช้วิธีการออกเสียง
หากสามารถทำให้นักเรียนมีความคิดวิถีชีวิตเป็นประชาธิปไตยได้แล้วการเคารพในสิทธิหน้าทีคนอื่นก็จะติดตามมา การทะเลาะกันแบบไร้เหตุผลก็จะไม่เกิดขึ้น นอกจากเราจะมี คารวะธรรม สามัคคีธรรม ปัญญาธรรมแล้ว ผู้เขียนขอเสนอแนะแนวทางการสร้างภูมิคุ้มกันที่สำคัญแกเยาวชนไทยก่อนจะสายไปครูผู้สอน ต้องแทรกเนื้อหาและพัฒนาการสอนดังนี้
1.สอนให้นักเรียนเข้าใจความแตกต่างของลัทธิ การเมือง เนื่องจากมีการพูดหรือโฆษณาชวนเชื่อว่า สิ่งที่ตนเชื่อเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ฝ่ายตรงข้ามไม่เป็นประชาธิปไตย ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาก็เชื่อตามดังนั้นผู้บริหารต้องดำเนินการให้ครูได้ย้ำถึงระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงเป็นอย่างไรซึ่งแต่ละฝ่ายต่างคิดว่าตนถูก เยาวชนก็จะหลงเดินตาม

2.สอนให้นักเรียนรู้จักสิทธิและเสรีภาพตามกฎหมาย นักเรียนไทยหรือคนไทย ยังขาดความเข้าใจในการเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพของตนตามกฎหมายทำให้ข้าราชการหรือหน่วยงาน ต่าง ๆ ดำเนินการไปตามอำเภอใจ ยกตัวอย่าง ประชาชนในภาคอีสานของเรานี้รู้จักเดินขบวนไปกรุงเทพเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและทำตามที่นักการเมืองต้องการ แต่ ปัญหาที่ตนประสบอยู่ในชีวิตประจำวันไม่มีใครออกมาเรียกร้องหรือเดินขบวนเลย เช่น
1.การฉ้อราษฎร์บังหลวงขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
2.การบริการที่แย่ของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เช่น รถไฟ น้ำประปา
3.การกดราคาสินค้าเกษตรของพ่อค้า
4.การที่เจ้าหน้าที่รัฐร่วมมือกับแก๊งต้มตุ๋นแรงงาน หลอกลวงประชาชน
ฉะนั้นครูผู้สอนในโรงเรียนจะต้องสอนให้นักเรียนรู้จักสิทธิและหน้าที่ของชาวไทยให้กระจ่าง
เพื่อให้เข้าใจสิทธิโดยกฎหมายของประชาชน โดยเฉพาะกฎหมายว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพ กฎหมายแรงงาน กฎหมายที่ดิน หากถูกข้าราชการรังแกจะทำอย่างไร นอกจากนั้นครูต้องลบล้างความเชื่อ
ผิด ๆ ที่ปลูกฝังในสังคม ให้เป็นไปตามความต้องการของนักการเมือง เช่น
1.ประชาธิปไตยเป็นเสียงข้างมากเท่านั้นจึงเรียกว่าเป็นประชาธิปไตย
2.ศาลยุติธรรมและองค์กรทางศาลไทยไม่น่าเชื่อถือไม่ควรเคารพ
3.คนรวยมาเป็นนักการเมืองไม่มีทางโกงเพราะเขามีฐานะร่ำรวยแล้ว
4.สถาบันหลักทั้ง 4 ไม่ควรยุ่งเกี่ยวกัน นายกรัฐมนตรีควรมีอำนาจสูงสุด เมื่อนักเรียนเข้าใจหลักสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่ควรรู้อย่างแท้จริงก็ไม่ตกเป็นเครื่องมือของนักการเมืองที่ไม่ดี
3. ผู้สอนจะต้องทำความเข้าใจกับนักเรียนนักศึกษา ให้รู้ถึงความสัมพันธ์ของเศรษฐศาสตร์และการเมือง ว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างไร นโยบายทางการเมืองมีผลต่อเศรษฐกิจของประเทศและของโลกอย่างไร ให้นักเรียนได้เข้าใจว่านักการเมืองเข้ามาเล่นการเมืองเพื่ออะไร นักการเมืองที่ดีต้องทำตัวอย่างไร ซึ่งการเรียนการสอนแบบนี้เหมาะสมกับนักเรียนระดับมัธยมและนักศึกษามหาวิทยาลัยการทัศนศึกษา การทำการค้นคว้านอกสถานที่ จะทำให้นักเรียนเข้าใจมากยิ่งขึ้น ให้นักเรียนค้นคว้าข้อมูลเรื่อง ราคาข้าว ราคายาง ราคาสินค้า ตลาดหุ้นว่าเกี่ยวข้องกับนโยบายรัฐอย่างไรและต้องแสดงให้เห็นชัดว่านโยบายทางการเมืองส่งผลต่อนักเรียนและครอบครัวอย่างไร ยกตัวอย่างประเทศประชาธิปไตยที่ประสบผลสำเร็จทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ ให้เป็นตัวอย่างชัดเจน
ครูผู้สอนต้องค้นคว้าและทุ่มเท การเรียนการสอนต้องใช้กระบวนการกลุ่ม ให้มีการ
วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางทำให้นักเรียนรู้เท่าทัน การโฆษณาชวนเชื่อที่สร้างความแตกแยก
4.จัดการเรียนการสอนที่เน้นการคิดวิเคราะห์ สังคมอีสานชอบข่าวลือ ชอบฟังพูดปากต่อปาก
เช่น ข่าวลือว่าผีปอปกำลังมาทางนั้นทางนี้ จะไปเร็วมาก ไม่เกินสามวัน หน้าบ้านคนก็จะเต็มไปด้วยสิ่งแปลกปลอม ป้องกันผีเต็มบ้าน ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจเลยว่า ผลการประเมินโรงเรียนของสมศ.โรงเรียนต่าง ๆ ไม่ผ่านการประเมินในหัวข้อการคิดวิเคราะห์ของนักเรียน และไม่ผ่านมาตรฐานที่ 5 การดำเนินให้ประสบผลสำเร็จตามหลักสูตรคือ ผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนและการคิดวิเคราะห์ของนักเรียน เนื่องจากไม่นิยมอ่านหนังสือ ดังนั้นผู้บริหาร ต้องส่งเสริมนโยบายรักการอ่าน ให้มากขึ้น รวมทั้งผลักดันให้ครูจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนรู้จักคิดวิเคราะห์ การออกข้อสอบให้ใช้ข้อสอบแบบอัตนัย เพื่อฝึกให้นักเรียนคิดเป็น เขียนเป็น อันเป็นปัญหาใหญ่ของการศึกษาไทยขณะนี้
การที่นักเรียนคิดวิเคราะห์ไม่เป็นนี้เองจึงทำให้ขบวนการหลอกลวงต่าง ๆ ประสบผลสำเร็จในการเอาเปรียบประชาชนไม่ว่าจะเป็นการหลอกลวงส่งแรงงานไปนอก หลอกลวง
ให้ปลูกพืชที่ขายไม่ได้ เช่น ตะกู หรือมะม่วงหิมพานต์ หรือถูกนักพูดโต้วาทีชาวใต้ 3 คน หลอกให้ไปเดินขบวนกรุงเทพ หรือถูกนายทุนหลอกให้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เป็นต้น
การฝึกคิดวิเคราะห์ทำให้นักเรียนแยกแยะเข้าใจรู้จักสิทธิและหน้าที่ของตนตามสิทธิเสรีภาพของมนุษยชาติ และสิทธิเสรีภาพตามกฎหมายประชาธิปไตยที่แท้จริงจะเกิดขึ้นในสังคมไทย
สำหรับการปรับปรุงการเรียนการสอนทั้ง 4 ประการหลังผู้เขียนได้คิดขึ้นเองหลังจากประมวลสถานการณ์และความรู้ จากการสอนนักเรียน ยังได้ผลไม่น่าพอใจ เนื่องจากยังมีปัจจัยอื่นมาเกี่ยวข้อง ซึ่งต้องใช้เวลาและความตั้งใจเป็นอย่างมากในการสอนนักเรียน ให้เปลี่ยนวิธีคิดได้ อย่างไร
ก็ตามความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ถ้าผู้ใหญ่ทำตัวเป็นแบบอย่างนำทางเยาวชน โดยมีผู้บริหารเป็นแกนนำหลัก
เมื่อโรงเรียนสามารถพัฒนาผู้เรียน ให้เข้าใจ เข้าถึง และรักในความเป็นประชาธิปไตย เป็นอย่างดียิ่งแล้ว ในอนาคต ภาพแห่งความ ขัดแย้งที่ปรากฏอยู่ในสังคมไทย ก็จะค่อยลบเลือนไป กระทั่งไม่ปรากฏขึ้นอีก จึงเป็นหน้าที่ของผู้บริหารการศึกษาทุกท่าน ที่จะสร้างแนวทางในการแก้ปัญหาของสังคม เพื่อให้สังคมไทยปราศจากความขัดแย้งที่รุนแรงตลอด





อ้างอิง
จิระ เงินงอก .คู่มือเตรียมสอบ ภาค ข ( ความรู้ทั่วไป ) .มหาวิทยาลัยราชภัฎชัยภูมิ:ชัยภูมิ, 2550
เวปไซด์
http://gotoknow.org/blog/piyapoch/211178
http://gotoknow.org/blog/faii/219678