โรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา

โรงเรียนมหาวชิราวุธ  จังหวัดสงขลา
ครูสอนว่า จงรักษาความดีให้เหมือนเกลือที่รักษาความเค็ม

ความรู้อยู่ไหน

ค้นคว้าหาไปหยิบใส่สมอง
โลกเราแลกว้างยิ้มอย่างพี่น้อง
หยิบกระเป๋าทอดน่อง
ย่างเท้าก้าวเดิน

วันเสาร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2552

กฎแห่งกรรมที่ได้เห็น 2


กฎแห่งกรรมที่ได้เห็น
ผู้เขียนเป็นคนที่ชอบทบทวนเรื่องราวในอดีตและนำมาคิดวิเคราะห์กับเรื่องราวในปัจจุบัน และมักนึกย้อนไปในสมัยเด็ก ๆ ภาพทั้งหลายก็แสดงขึ้นเหมือนภาพยนตร์ที่ทำให้ระลึกถึงกฎแห่งกรรมที่ได้เห็นและต้องการบอกกล่าวกับคนอื่น เพราะเห็นว่าคนยุคนี้ ช่างไม่กลัวบาปกรรมกันเลยจริง ๆ มองเห็นเป็นเรื่องไร้สาระหรือตลก ชอบเสพแต่สิ่งกระตุ้นให้เกิดความอยากได้อยากมีไม่สิ้นสุด

ภาพที่ผู้เขียนจำได้ติดตา คือ เพื่อนของผู้เขียนคนหนึ่ง เอาลูกหนูที่เกิดใหม่ ๆ ตัวแดง ๆ จำนวนเจ็ดตัว มาหย่อนลงในน้ำ เมื่อลูกหนูพยายามระเสือกกระสนว่ายขึ้นมาหายใจก็จับมายกให้สูงแล้วหย่อนลงไป จนลูกหนูหมดแรงจมน้ำเสียชีวิต และทำอย่างนี้กับหนูทุกตัวจนตายทั้งหมด ยามว่างของเขามักจะไปล่าสัตว์ในป่า ตั้งแต่เด็ก ๆ เขายิงหนังสะติ๊กแม่นมาก นกทุกตัว กะรอก จะโดนยิงที่หัวจนเละ เมื่อย่างเข้าสู่วัยรุ่นเขากลายเป็นเด็กก้าวร้าว และเรียนไม่จบ ม.6 อาศัยที่พ่อแม่ฐานะดี เขาจึงได้ทำงานในโรงพยาบาลและได้สาวงามในหมู่บ้านเป็นภรรยา ยามว่างชอบถือปืนไปล่าสัตว์ในป่า เป็นประจำ ทั้งที่อาหารการกินอุดมสมบูรณ์ และมีเงินเพียงพอกับการยังชีพ

วันหนึ่งเคราะห์กรรมมาถึงเขาได้ขี่มอร์เตอร์ไซด์วิบากคันงาม ชนเสาไฟฟ้า ศรีษะกระแทกอย่างแรง จนต้องผ่าตัดสมอง และกะโหลก รอดชีวิตมาได้แต่อารมณ์ของเขาเปลี่ยนแปลงไป ฉุนเฉียว โกรธง่าย มีเรื่องจนต้องออกจากงาน กลับมาอยู่บ้านเขากับทะเลาะกับภรรยาบ่อยครั้ง และในที่สุดได้ใช้ปืนยิงภรรยาเสียชีวิตโดยการใช้ปืนยิงผ่านหมอนขณะภรรยาหลับ ต้องหนีคดีไปอาศัยในสามจังหวัดภาคใต้หลายปี โชคดีที่มีพี่เขยมีหน้าที่การงานดีสามารถดึงคดีไว้ได้นับสิบปี

ในที่สุดก่อนคดีจะสิ้นอายุความอีกหนึ่งปีญาติของภรรยาได้ร้องเรียนอีกครั้ง ตอนนี้ บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปอิทธิพลไม่สามารถช่วยเขาได้ จึงถูกจับ ศาลพิจารณาคดีให้จำคุกยี่สิบปี

ทิ้งให้พ่อกับแม่วัยชราต้องเจ็บปวดกับลูกคนสุดท้องที่รักที่สุด และลูกชายของเขาที่กำพร้าพ่อและแม่ ซึ่งต้องกลายผู้หญิงประเภทสองไป เพราะเกลียดพ่อที่ฆ่าแม่ตนเอง

ทำไมชีวิตเขาจึงเป็นเช่นนั้น เท่าที่ผู้เขียนได้สังเกตใกล้ชิด ความก้าวร้าว ความรุนแรงเกิดจาก การเลี้ยงดูของพ่อแม่นั้นเอง เขาเป็นลูกชายคนสุดท้อง พ่อแม่หวงมาก พ่อเป็นคนไทยเชื้อสายจีน ที่เข้มงวด หากลูกทำผิดมักลงโทษรุนแรง บางครั้งใช้ไม้ขนาดใหญ่ทุบตีลูก ไปเล่นกับเพื่อนไกลบ้านไม่ได้จะถูกตามลงโทษทุกครั้ง และลงโทษแรงเกินที่เด็กวัย 5 - 7 ขวบ จะรับได้

ขึ้นต้นด้วยกฎแห่งกรรม ตอนท้ายกลายเป็นพ่อแม่รังแกฉัน ความเจ็บปวดและกดดันของเด็ก ๆ ส่งผลถึงการเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต ผู้ปกครองทั้งหลายพึงสังวร

วันพฤหัสบดีที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2552

กฎแห่งกรรม 1


สมัยเด็ก ๆ อายุ 14 ขวบผู้เขียนเป็นเด็กชนบทชาวสวน อยู่ท่ามกลางภูเขา ทุ่งนา บังเอิญสอบได้โรงเรียนมัธยมประจำจังหวัดซึ่งอยู่ห่างไกลจากบ้านหลายสิบกิโลเมตร การเดินทางไปเรียนหนังสือต้องปั่นจักรยานเป็นระยะทาง 8 กิโลเมตร นำจักรยานไปฝากไว้ที่บ้านคนรู้จัก จากนั้นขี่รถโดยสารไปโรงเรียนไป - กลับทุกวัน

บ้านที่ฝากรถจักรยานนี้เองผู้เขียนได้รู้จักชายวัยหนุ่มคนหนึ่ง มีลักษณะพิเศษขาลีบพิการทั้งสองข้างเดินไม่ได้รับจ้างซ่อมนาฬิกาและวิทยุอยูภายในบ้าน ซึ่งผู้เขียนได้พูดคุยและทักทายกับเขาอย่างสนิทสนมตามประสาเด็ก ๆและรู้สึกสงสารเขามากจึงมักนำวิทยุ นาฬิกา มาซ่อมกับเขาบ่อย ๆ และคิดกับเขาในแง่ดี พอรู้จักกันนานเข้าเขามักจะกลายเป็นคนฉุนเฉียวและโมโหง่าย การทำงานมักล่าช้าและผลัดวันประกันพรุ่งจนหลายคนเอือมระอา ค่อย ๆถอยจากเขามาในที่สุด

ด้วยวัยยังเด็กทำให้ผู้เขียนไม่เข้าใจพฤติกรรมและความแตกต่างของมนุษย์ ผู้เขียนจึงได้สอบถามเรื่องราวของเขาจากคุณย่าของผู้เขียน ซึ่งท่านสนิทสนมกับครอบครัวนี้ ท่านเล่าให้ฟังว่า

ตอนที่แม่ของเขาตั้งท้องเขาอยู่นั้น พ่อของเขาซึ่งเป็นหมอยาแผนโบราณได้เข้าไปยิงค่างในป่าเพื่อนำเลือดค่างมาผสมยา ในวันนั้นพ่อของเขาได้ใช้ปืนยิงค่างแม่ลูกอ่อนตัวหนึ่งตกลงมาจากต้นไม้สูง แม่ค่างเสียชีวิตทันที ส่วนลูกอ่อนของค่างนั้นตกกระเด็นลงมาขาหักทั้งสองข้าง พ่อของเขาได้จัดการเอาเลือดแม่ค่างแล้วจึงนำลูกค่างมาเลี้ยงที่บ้าน ลูกค่างนั้นนำมาเลี้ยงไม่ถึงสิบวันก็เสียชีวิต เพราะเดินไม่ได้และไม่มีนมให้กิน

หลังจากลูกค่างเสียชีวิตได้สามเดือนเขาก็คลอดออกมา ในลักษณะที่ทำให้พ่อแม่ญาติพี่น้องเสียใจเป็นอย่างมาก คือ มีสภาพขาพิการทั้งสองข้าง เมื่อได้เห็นสภาพลูกชายแล้ว พ่อของเขาได้เลิกฆ่าสัตว์นับตั้งแต่บัดนั้น หันมาถือศีลและประกอบกรรมดีชดใช้กรรมของตนตลอดมา

ตอนที่คุณย่าเล่าให้ฟังนั้นผู้เขียนได้เลิกโกรธเขาและรู้สึกสงสารที่เขาต้องมารับกรรมที่บุพการีได้สร้างไว้ และตั้งใจว่าเมื่อเจอเขาจะพูดดีกับเขาดังเดิม

เมื่อนึกถึงอดีตเหล่านี้ ผู้เขียนก็ระลึกได้ว่า นิทานหรือเรื่องราว ที่คุณย่าเล่าให้ฟังก่อนนอนภายใต้แสงตะเกียงน้ำมันก๊าดนั้น ได้ฝังความรู้สึกเกรงกลัวต่อบาปให้ผู้เขียนโดยไม่รู้ตัวและยาวนาน

วันศุกร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2552

อิทธิพลดาวอังคารปีเสือ


ดาวอังคาร ( MARS )
โหราศาสตร์โบราณ ถือว่าเป็นเทพแห่งนักรบ เทพเจ้าแห่งสงคราม มุทุลุดุดัน ต่อสู้ ถ้ารู้ว่าจะแพ้กลับนิ่งและสุขุมนุ่มลึก แสดงเป็นคนผอม คล้ำผิวดำแดง ถ้าเป็นหญิง ผอมสูง ปราดเปรียว ว่องไว มีบ้านอยู่ในราศีพฤศจิและราศีเมษ เป็นมานำมาซึ่งการเริ่มต้นและความตาย อาชีพ หมายถึงทหาร นักกีฬา อาชีพที่ทำการแข่งขัน อังคารในเมษ ทหารนักรบ อังคารในราศีพฤศจิทหารเสนาธิการ วัตถุแสดง อาวุธ ปืน รถไฟ รถยนต์ สินค้าที่เป็นเหล็ก เมืองชายแดนที่มีค่ายทหาร ดาวอังคารในร่างกาย หมายถึง ไต มีหน้าที่ขจัดพิษ ส่วนที่แข็งแกร่ง ต่อสู้ ให้คุณให้โทษโลดโผน รุนแรง ต้นไม้ หมายถึง ที่มีหนามคม เปลือกแข็ง ใบคม อังคารในราศีพฤศจิ มีอำนาจเหนือแมลงพิษ การวางยาพิษ ทำให้มีเมียมาก เมียเก็บ อังคารในเมษ เริ่มต้น ต่อสู้ เปิดเผย มีน้ำใจนักกีฬาอังคารในราศีเมษต่อสู้แบบเปิดเผย ลูกผู้ชาย อังคารในพฤศจิ ดูคล้ายไม่สู้คนแต่ก่อการลับ วางแผนลับสู้แบบวางแผน ใช้ให้คนอื่นตายแทน สามารถลอกเลียนแบบแล้วพลิกเป็นชัยชนะได้แบบนึกไม่ถึง
ที่พูดมานี้เพราะช่วงนี้ดาวอังคาร แรงมากลอยในภพที่ 4 ดวงเมือง ทหารแก่ ทหารเก่า ทหารเกษียณ โด่งดังไปตามกัน บทบาทของดาวอังคารเด่น ยิ่งราหูมาเล็ง ราหูเทพเจ้าแห่งความหลงเสริมให้บ้ายอบ้าอำนาจ หลงตนเอง อังคารราหู กัน หลงเมา หลงอำนาจ
ดาวอังคารจะโคจรเดินหน้าถอยหลังอยู่ในภพที่ 4 ( บ้านเรือนที่อยู่ ) ดวงเมืองกรุงเทพ จากเดือนตุลาคม 2552 ถึงปลายปี พ.ศ.2553 คงไม่ต้องบอกว่าเสียงท้อปบู๊ทของดังตลอดทั้งปี

เขียนไว้ในเวป อุดร 108 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2552

การส่งเสริมการเรียนการสอนแบบโครงงาน ( Project Design )


การส่งเสริมการเรียนการสอนแบบโครงงาน ( Project Design )
การบริหารงานวิชาการให้ประสบผลสำเร็จ ถือว่าเป็นงานที่ท้าทายของผู้บริหาร ที่จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือเป้าประสงค์ของผู้รับบริการและหน่วยงานต้นสังกัดโดยเฉพาะการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม ความถนัด ความรู้และภูมิปัญญาของชุมชน ที่จะนำมาบูรณาการให้เข้ากับหลักสูตรการเรียนการสอนในกลุ่มสาระต่าง ๆ หรือเราเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “หลักสูตรท้องถิ่น “
โรงเรียนบ้านปะโคอำเภอกุมวาปี จังหวัดอุดรธานี เป็นโรงเรียนที่ประสบผลสำเร็จในการส่งเสริมให้นักเรียนนำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอน เป็นรูปแบบการเรียนการสอนแบบโครงงานวิทยาศาสตร์ที่มุ่งส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ค้นหาความสามารถ ความถนัด และความสนใจของตนเองในด้านต่าง ๆ มาจากแนวคิดพื้นฐานของการเรียนรู้โดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
(Child Center) และการเรียนรู้ตามสภาพจริง โดยมีการศึกษาหลักการ และวิธีเกี่ยวกับโครงงานที่เลือกศึกษา วิเคราะห์ วางแผนการทำงาน ลงมือทำงาน และปรับปรุง เพื่อให้งานบรรลุตามวัตถุประสงค์ ในกระบวนการเรียนการสอนได้ใช้ทักษะกระบวนการ สอดแทรกคุณธรรม ทำงานเป็นกลุ่ม ฝึกปฏิบัติจริง เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม มีครูเป็นผู้ชี้แนะ ให้คำปรึกษาตลอดเวลา เน้นฝึกคนให้แสวงหาความรู้ด้วยตนเอง
ประโยชน์ของการจัดทำโครงงาน
1.ทำงานตามความถนัด ความสนใจของตนเอง
2.ฝึกทักษะกระบวนการทำงานด้วยตนเอง หรือร่วมกันทำงานเป็นกลุ่ม
3.สามารถวางแผนการทำงานเป็นระบบ
4.พัฒนาความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
5.ศึกษา ค้นคว้า และแก้ปัญหาจากการทำงาน
6.เป็นสิ่งยืนยันว่าเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ในโครงงานที่ทำจริง ในกรณีที่ต้องนำแสดงต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง
ความหมายของโครงงาน
โครงงาน หมายถึง การกำหนดรูปแบบในการทำงานอย่างเป็นระเบียบ มีกระบวนการทำงานที่ชัดเจน เพื่อให้สามารถผลิตชิ้นงาน และ ผลงานที่สัมพันธ์กับหลักสูตรและนำไปใช้ประโยชน์กับชีวิตจริง

ประเภทของโครงงาน แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ
1. ประเภทการศึกษาทดลอง เป็นการศึกษาเปรียบเทียบหรือพิสูจน์ความจริงตามหลัก
วิชาการอย่างเป็นเหตุเป็นผลหรือค้นหาข้อเท็จจริงในสิ่งที่ต้องการรู้ เช่น แสงมีผลต่อการเจริญเติบโตของพืช, อาหารพื้นบ้านกับการเจริญเติบโตของไก่
2. ประเภทสำรวจข้อมูล เป็นการสำรวจรวบรวมข้อมูลแล้วนำข้อมูลนั้น ๆ มาจำแนกเป็นหมวดหมู่ และนำเสนอในรูป แบบต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้ในการวางแผนหรือพัฒนางาน หรือปรับปรุงงาน เช่น การสำรวจการขาดสารไอโอดีนในชุมชน, การสำรวจการเรียนต่อของเยาวชนอำเภอสำโรงทาบ ในปี 2542
3. ประเภทสิ่งประดิษฐ์ เป็นการผลิตชิ้นงานใหม่ และศึกษาคุณภาพ ประสิทธิภาพ ประโยชน์คุณค่าของชิ้นงานนั้น ๆ เช่น เครื่องฟักไข่, ระบบน้ำหยดเพื่องานเกษตรโดยใช้กระป๋องน้ำมันเครื่อง
4. ประเภทพัฒนาผลงาน เป็นการค้นคว้าหรือพัฒนาชิ้นงานให้สามารถใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น หรือมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เช่น การประดิษฐ์อุปกรณ์นับจำนวนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์, การประดิษฐ์เครื่องโรยขนมจีน
บทบาทของผู้เรียน การสอนแบบโครงงาน (Project Design)
1.ค้นคว้าและฝึกฝน การเขียนโครงงาน โครงงาน
2.ศึกษาข้อมูลของสิ่งที่ศึกษาให้เข้าใจและจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ
3.วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้มาวางแผนจัดทำสิ่งใหม่
4.ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้ได้แผนงานที่ดีที่สุด
5.เขียนโครงงานวางแผนการทำงาน
6.ปฏิบัติตามโครงงานให้สำเร็จลุล่วงหรือพัฒนาต่อเนื่องจากพบกับอุปสรรค
7. ประเมินผลโครงงาน
สำหรับโครงงานของโรงเรียนบ้านปะโคเป็นโครงงานวิทยาศาสตร์ประเภททดลองและประดิษฐ์ โดยใช้ภูมิปัญญาของท้องถิ่นเข้ามาประสมประสาน ซึ่งมีคุณครู นันทิยา พิทักษ์รัตนชนม์ ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนบ้านปะโค และทีมงานเป็นผู้ฝึกสอนนักเรียน โครงการของนักเรียนที่ทำไปแล้วประสบความสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ ได้แก่
1.โครงงานประเภททดลอง
1.1 โครงงานกระเตี้ยวหมวยประหยัดพลังงานได้รับรางวัลชนะเลิศ ระดับช่วงชั้นที่ 3จากมูลนิธิพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่จังหวัดนครราชสีมา ในปี การศึกษา 2551
1.2.โครงงานกระติ๊บข้าวมหัศจรรย์ ได้รับรางวัลเหรียญเงิน ระดับชาติ ระดับประถมศึกษา จากสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2552
2.โครงงานประเภทสิ่งประดิษฐ์
2.1โครงงานเครื่องแกะข้าวโพด จากวัสดุท้องถิ่น ได้รับรางวัลเหรียญทอง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุดรธานีเขต 2 และเป็นตัวแทนเข้าประกวดระดับภาคที่จังหวัดอุบลราชธานี
2.2 โครงงานน้ำตกแต่งสวนจากวัสดุท้องถิ่น ได้รับรางวัลเหรียญทอง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุดรธานีเขต 2 และเป็นตัวแทนเข้าประกวดระดับภาคที่จังหวัดอุบลราชธานี
3.โครงงานประเภทพัฒนาผลงาน ได้แก่ การทำข้าวเกรียบโบราณโดยประยุกต์ให้ใช้สีสมุนไพรธรรมชาติแสดงในงานประชุมครูอาเซียน ในเดือน กุมภาพันธ์ 2552 ณ โรงแรมเจริญโอเต็ล จังหวัดอุดรธานี

การได้รับรางวัลและการได้แสดงในระดับชาติดังกล่าว แสดงให้เห็นของศักยภาพของนักเรียน ครูและการบริหารจัดการทางวิชาการที่แสดงถึงความสำเร็จหลายประการกล่าวคือ

1.นักเรียนได้ประสบผลสำเร็จในการค้นคว้าจัดทำโครงงานสามารถฝึกฝนจนสามารถคิด วิเคราะห์ได้ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของการเรียนการสอน
2.ความสามารถของครูผู้ถ่ายทอด ที่ได้นำความรู้และหลักการเรียนการสอนอย่างถูกต้องและเป็นกระบวนการมีการบูรณาการระหว่างครูภาษาอังกฤษ ครูการงานอาชีพ และครูวิทยาศาสตร์
กล่าวคือ ครูการงานมีความรู้เรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่น ครูวิทยาศาสตร์เข้าใจหลักการทางวิทยาศาสตร์ และครูภาษาอังกฤษสอนให้นักเรียนรายงานอธิบายโครงการเป็นภาษาต่างประเทศ ทำให้นักเรียนมีความรู้ในสามรายวิชาโดยเป็นธรรมชาติและกลมกลืน
3.ความสำเร็จในความร่วมมือกับชุมชน ในการให้ผู้มีความรู้หรือภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ช่วยสอนนักเรียน จนทำให้นักเรียนสามารถนำมาต่อยอดสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ได้
4.การส่งเสริมและการเอาใจใส่ของผู้บริหารในการสนับสนุนให้งานและโครงการได้รับงบประมาณและเผยแพร่ต่อเครือข่าย ชุมชนและผู้รับบริการ

อย่างไรก็ตามการจัดการเรียนการสอนสอนให้นักเรียนได้รู้จักคิดวิเคราะห์ด้วยการเรียนการสอนแบบโครงงานนั้นเราจำเป็นต้องพัฒนาอีกมากเนื่องจากเด็กไทยยังเคยชินกับการออกคำสั่ง และครูเองยังใช้ตนเองเป็นศูนย์กลางเป็นส่วนใหญ่ ความสำเร็จของนักเรียนไทยอาจกล่าวได้ว่ายังต้องใช้เวลาอีกหลายปี จึงจะเข้าใจการเรียนรู้และคิดวิเคราะห์ได้ด้วยตนเองอย่างแท้จริง


อ้างอิง

เว็บไซด์
www.suphet.com/index.php
สัมภาษณ์
นันทิยา พิทักษ์รัตนชนม์ . ผู้ให้สัมภาษณ์ เกื้อกูล ขวัญทอง ผู้สัมภาษณ์ สัมภาษณ์
เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2552 ณ โรงเรียนบ้านปะโค ตำบลปะโค อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี

งานส่งวิชา ด.ร.สวัสดิ์ โพธิวัฒน์ การบริหารทรัพยากรทางการศึกษา

วันพฤหัสบดีที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ความก้าวหน้าของการเมืองไทย เหนือชาติใดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


ข่าวคราวของสื่อและการต่อสู้ทางการเมืองของไทย หลายคนอ่านข่าวและอาจท้อแท้ใจ หรือเบื่อหน่ายทางการเมือง การเสนอข่าวในภาพร้ายหรือขายข่าวร้ายของสื่อและการปลุกระดมโฆษณาชวนเชื่ออาจทำให้หลายคน มองประเทศของเราว่าเป็นกลียุค คงจะล่มจมในไม่ช้า
ในมุมมองของผู้เขียน ไม่ได้มองอย่างนั้นแต่กลับเห็นเส้นทางอันสดใสของการเมืองไทยในอนาคต คลายกับดักแด้ที่ต้องผ่านความเจ็บปวดในการลอกคราบเพื่อเป็นผีเสื้อนั้นเอง เมื่อเรามองผ่านไปยังประเทศเพื่อนบ้าน คล้ายกับสงบและมีสันติ เป็นประเทศไม่มีปัญหา แท้จริงแล้ว เขายังตามหลังเราอีกมากและอีกนานที่จะทำได้อย่างเรา
ลาวยังคง ตกอยู่ภายใต้รัฐบาลคอมมิวนิสต์ ที่ปกครองโดยพรรคเดียว การเลือกตั้ง ที่เลือกได้เพียงพรรคเดียว คงไม่ต้องบอกว่า ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพที่แท้จริงหรือไม่ สือ่ต่าง ๆ ไม่มีโอกาสขัดแย้งรัฐบาล ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลไมสิทธิโฟนอิน ไม่มีสิทธิออกโทรทัศน์หรือสื่อ อาจถูกล่าสังหารได้โดยไม่มีการประนีประนอม สำหรับการคอร์รัปชั่น คงไม่ตองพูดมากนักธุรกิจไทยคงรู้ดี
เวียดนามนั้นก็ไม่ต่างจากลาวนัก การมีอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จของพรรคคอมมิวนิสต์ ไม่ต้องกล่าวว่า จะมีความคิดเห็นที่แตกต่างเกิดขึ้นในประเทศนี้ ผู้คิดต่างจากพรรคมีที่ยืนหรือไม่ สำหรับลาวและเวียดนามมีดีที่มีชาตินิยม และดูแลทรัพยากรของตน ไม่ให้นายทุนเข้าไปผลาญได้ และมีการพัฒนาเยาวชนอย่างเข้มแข็งและเข้มงวด
ประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ มีพรรคเดียวครองอำนาจมายาวนาน และบ่อนทำลายฝ่ายตรงข้ามหรือฝ่ายค้านจนไม่มีที่ยืนในสภา แม้ในพรรคเดียวกันที่คิดต่างกันก็ใส่ร้ายกันจนเข้าคุกมาแล้วสื่อฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลถูกตรวจสอบอย่างเคร่งครัด สื่อสิงคโปร์จึงชอบประจานประเทศไทย เพราะ
วิจารณ์บ้านตนเองไม่ได้ ไม่ต้องพูดถึงกฎหมาย ที่ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชน เป็นอย่างมาก ในการลงโทษ แบบไร้มนุษยธรรม
สิ่งที่ดีกล่าวคือ ทั้งมาเลเซียและสิงคโปร์สามารถกำหราบนายทุน ให้อยู่ในกรอบรัฐบาลได้ การผูกขาด การเอาเปรียบของทุนนิยม จึงน้อยกว่าไทย ระบบราชการที่มีคุณภาพ และการจัดการศึกษาที่ดีกว่า ทำให้ มีเศรษฐกิจดี เป็นตัวของตัวเอง
พม่ารัฐบาลทหารพม่า มีชื่อเสียงอย่างไร เป็นประชาธิปไตยหรือไม่ คงไม่ต้องอธิบาย ภาพพระสงฆ์ ถูกปราบ ทำร้าย บอกชัดเจน
ไทยเรานั้นก้าวมาถึงขั้น คนชั้นล่างตื่นตัวทางการเมือง มีการต่อสู้ทางการเมืองอย่างเปิดเผย และเปิดโอกาสให้สื่อ บุคคล เลือกข้างและแสดงออกได้อย่างเต็มที่ บ้างครั้งก็เกินเลย แต่ถามว่า ประเทศอื่น ทำได้ไม่ ไม่ได้ครับ ฝ่ายค้านไทย เป็นฝ่ายค้านที่มีพลังสูง รัฐบาลเองก็มีการเปิดโอกาสเวที ให้อย่างกว้างขวาง ยกเว้นวันที่ 7 ตุลาคม 2551 เล่นหนักไปหน่อย แต่ก็สามารถกลับคืนภาวะปกติได้ ประเทศไทยจึงมีการตรวจสอบการทำงานของรัฐและราชการที่เข้มงวดมากขึ้น อย่างไม่เคยมีมาก่อน เราจึงหาความสงบได้ยากเพราะเราเคยกับการถูกกดหัวมาตลอด ตอนนี้มีศาลปกครอง องค์กรอิสระ ที่สามารถตรวจสอบได้มากขึ้น สำหรับคนที่เคยชินกับขอรับกระผม จึงดูวุ่นวาย แตกแยก
การปะทะของนายทุนใหม่และศักดินาผสมนายทุนเก่าคงจะ ทำให้ประชาธิปไตยไทยดีขึ้นไม่น้อย อย่างไรก็ดี อนาคตเราควร จับพวกเชิดหุ่นทั้งหลายมาเก็บภาษีและลดการผูกขาดได้แล้ว เพราะชอบทำนาบนหลังคน ได้แก่ บริษัทรถญี่ปุ่น บริษัทการเกษตรใหญ่ บริษัทพลังงาน และรัฐวิสาหกิจล้าสมัย ธนาคารจอมขูดรีด นักเล่นหุ้นจับเสือมือเปล่าพวกนี้ รวยอยู่บนความขัดแย้ง จริง ๆ
เราต้องการประชาธิปไตยเพื่อปวงชน ไม่ใช่ประชาธิปไตยเพื่อนายทุน

วันศุกร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ดาวเสาร์วิเคราะห์ตามหลักโหราศาสตร์


ดาวเสาร์


เป็นเทพแห่งความอดทน บึกบึน ต่อสู้ ยาวนาน ในทางโหราศาสตร์ หมายถึง ชนชั้นแรงงาน ประชาชนชั้นล่าง กำนันผู้ใหญ่บ้าน ผู้ประกอบอาชีพ อสังหาริมทรัพย์ และนักปกครองที่ต้องเกี่ยวข้องกับคนจน ภูเขา และแผ่นดินกันดาร เคร่งครัดในประเพณี และมีระบบระเบียบเข้มงวด หากเป็นลัทธิการเมือง มักชอบลัทธิเผด็จการ ให้โทษอย่างน่ากลัวและให้คุณอย่างแน่นหนามั่นคง ผู้ที่มีดวงดาวเสาร์เด่น จึงทนทุกข์ก่อนเสมอ จนถึงครึ่งชีวิตแล้วกลับผงาดอย่างมั่นคง ชอบหวาดระแวง เก็บกด ขี้อิจฉา ไม่แสดงออก ชอบอาหารรสเปรียว หากเป็นต้นไม้ ได้แก้ต้นไม้รสเปรี้ยวทั้ง มวลหากเป็นประเทศได้แก่ ประเทศจีน เกาหลี ไต้หวัน อิสราเอล สกอตแลนค์ เวียดนาม และดินแดนที่ลัทธิขงจื้อมีอิทธิพลต่อความเชื่อ ประเทศเหล่านี้ผ่านการดิ้นรนต่อสู้มาอย่างโชกโชน พบกับความทุกข์ทรมาน มามากกว่าชาติอื่น มักเจอมหันตภัยให้เจ็บปวดอยู่เสมอ มีความเคร่งครัดในระเบียบวินัย ประเพณี อดทน อย่างไม่มีชาติใดเสมอเหมือนได้
เจ็ดปีมานี้ อำนาจของดาวเสาร์ มีพลังสูงมาก เศรษฐกิจของจีนสูงที่สุดในโลก และสามารถส่งยานอวกาศโคจรนอกโลกได้ได้จัดกีฬาโอลิมปิค ( ดาวเสาร์อยู่ใกล้ดาวมฤตยู )เวียดนาม เกาหลี อิสราเอล มีพลังโด่งดังและประสพผลสำเร็จในเวทีเศรษฐกิจ และกิจกรรมอื่น ๆ ได้อย่างน่าทึ่งในประเทศไทยดาวเสาร์ ได้ผงาดขึ้นด้วยนโยบายเพื่อคนจน นโยบายประชานิยม ( ดาวเสาร์อยู่ใกล้ดาวเนปจูน ) พรรคที่นำโดยคนจีนเชื้อสายแคะได้รับการเลือกตั้งยืนนานถึงแปดปี และทำให้คนจนในภาคอิสาน เหนือ รวมตัวเลือกพรรคการเมือง พรรคเดียวได้เป็นครั้งแรก ซึ่งในอดีตไม่เคยทำได้เช่นนี้ สร้างความสั่นสะเทือนให้กับความเคยชินเดิม ๆ ของการเมืองไทยเป็นอย่างมาก วัยรุ่นทั่วเอเชีย ถูกแฟชั่น และภาพยนตร์ของเกาหลีเข้าครอบงำ และทำตาม ภาพยนตร์เกาหลีได้รับความนิยมเหนือภาพยนตร์ทีวีของชาติเจ้าของประเทศ สินค้าจีน เกาหลีบุกตีตลาดทั่วโลกและเอเชีย ได้ดุลการค้าอย่างมหาศาล
ที่กล่าวมานี้ ด้วยในเดือนกันยายนปี 2552 ดาวเสาร์จะย้ายราศีเข้าสู่มุมอับของดวงเมือง อิทธิพลที่ส่งผลต่อประเทศไทย จะน้อยลงไปถึงสามปี อิทธิพลดังกล่าวอาจจะถดถอยลง และจะกลับคืนมาอีก ในปี 2555 ดาวเสาร์จะเล็งดวงเมืองประเทศไทยและมีกำลังมากอย่างยิ่ง ประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง ใครมีเงินเหลือเก็บ ซื้อที่ดินถูกเอาไว้นะครับ รออีกสามปีค่อยขาย ใครมีเงินน้อย อย่าเสี่ยง


การวิเคราะห์อิทธิพลดาวเสาร์ในครั้งนี้ ได้เรียนรู้จาก ตำราของ ท่านพลูหลวง โหรหลวง ศิลปินแห่งชาติ




เขียนไว้ในกระทู้ ดูดวงให้ฟรีไม่คิดเงิน www.udon108.com เมื่อ 14 มกราคม 2552

คำปราศรัยในตู้กระจก




คำปราศรัยในตู้กระจก

ไฟเรียงรายตู้กระจกกั้น
เรียงลดหลั่นล้วนคนสวยขายความสาว
ห้องแคบคับอับเหม็นด้วยกลิ่นคาว
เชิดหน้าสู้ตาวาวทั้งใจตรม
มีทีวีที่วางไว้กลางตู้
ใครไม่รู้พูดเพราะช่างเหมาะสม
มาดสง่าน่าศรัทธามีคารม
จะแก้ปมปัญหาค้าประเวณี
เธอขายตัวสิบสองขวบจวบสิบเก้า
เร่งทำงานใช้เขาให้หมดหนี้
เคยสวยสุดทรุดโทรมช้ำสิ้นดี
เหลือใจที่แข็งขืนฝืนข่มทน
ผ่านนายหน้าแม่เล้ามาเข้าซ่อง
จากเมืองเหนือขึ้นล่องลงหลายหน
จากเมืองบางกอกหรูสู่ตำบล
ขายให้คนทุกข์แค้นแดนกันดาร
ลมหายใจอ่อนล้าเหนื่อยเต็มที
สรรพางค์กดขี่ชินชาด้าน
ถูกขู่เข็ญขังกักจนดักดาน
โลกวัยหวานเป็นอย่างไรไม่เคยรู้
ไฟเรียงรายตู้กระจกซี่กรงนั้น
เธอนิ่งงันฟังปราศรัยที่ในตู้
ชายกลัดมันชี้เธอเพิ่มประตู
ไม่อาจอยู่ดูคนเด่นเล่นละคร



แต่งไว้เมื่อปี 2537 ช่วง นายชวน หลีกภัย ประกาศปราบขบวนการค้าประเวณี



.

บทละครสั้นดอกไม้ลืมราก



บทละครสั้นดอกไม้ลืมราก ตัวละคร
๑.ดอกไม้งาม
๒.ราก
๓.เหมันตฤดู
เปิดม่าน......................
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
ดอกไม้สดสวยชูช่องามสง่า
เชิดหน้าท้าลมไสว
ภู่ผึ้งล้อมรักเธอปักใจ
โลกสดใสงามตระการ
ดอกไม้จึงผยองว่า........................................
รากเอ๋ยไหนเลยเจ้าจมอยู่ใต้ดินเล่า
โง่เง่าซึมเศร้าไม่สุขศานติ์
ดำมืดจืดชืดดักดาน
พบพานตุ่นหนูอยู่ทุกวาร
จงโผล่มาดูโลกศิวิไล
อลังการเลิศไปทุกถิ่นฐาน
หมู่เพื่อนล้วนรักเบิกบาน
แสนสำราญสว่างไสวเรืองรอง
รากจึงว่า.....................................................
เชิญท่านพบพานพิมานแมน
สร้างลูกหลานทั่วแดนอย่าผยอง
เมื่อมีความสุขบนถิ่นทอง
จงเล่าเรื่องทั้งผองสู่ข้าฟัง
ข้าน้อยยินดีฟังความงามที่ท่านพบ
ชื่นชมท่านประสบสิ่งสมหวัง
ขอดูดน้ำฉ่ำชื้นฟื้นพลัง
ให้ลำต้นแกร่งตั้งเขียวขจี
เหมันตฤดูผ่านมาได้ยินกล่าวว่า.......................................
ดอกไม้เอ๋ยบัดนี้ถึงเวลาเจ้าโรยราแล้ว
จงผลัดทิ้งดอกแก้วสวยสดสี
หล่นร่วงโรยลงดินนับแต่นี้
ขวบปีดอกใหม่จะกลับคืน ฯ
ปิดม่าน............................................................................

ศานติศุกร์ ตุลา
๔ มีนาคม ๒๕๔๗

รจนา


ความรักรักแท้แน่ในรัก ใช่ว่าจักมืดมัวมองหลงไหล
รักแจ่มด้วยปัญญาพาหัวใจ สว่างใสดั่งแก้วส่องแวววาว
เห็นความดีที่ทำเป็นทองแท้ ดำแต่นอกในแผ่ออกผ่องขาว
อยู่ในโคลนเพชรแท้ยิ่งแลพราว ดั่งดวงดาวเมฆาใหญ่ไม่อาจบัง
รจนาเห็นทองในรูปเงาะ งามเหมาะเจาะแจ่มทองของพระสังข์
พวงมาลัยน้อยลอยให้ไปจากวัง ด้วยมุ่งหวังเชื่อความดีที่ในคน

วันพฤหัสบดีที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2552

บุษบา



งามพริ้งเพริศพิลาศ ใสสะอาดมณีศรี
เฉิดฉายกัลยาณี ชายหมายโน้มมาโลมชม
กิริยาอ่อนเอวองค์ เทพไท้หลงลงติดหล่ม
ลืมกายหมายจึงตรม อิเหนาเศร้าเจ้าจากลา

วันอังคารที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2552

นโยบายการศึกษาไทยกับการปลูกฝังระบอบประชาธิปไตยให้แก่เยาวชน


บทความเรื่อง
นโยบายการศึกษาไทยกับการปลูกฝังระบอบประชาธิปไตยให้แก่เยาวชน

ประเทศไทยในปัจจุบันมีสภาพทางการเมืองที่ไม่ลงตัว มีการแตกแยกปะทะทางความคิดอย่างรุนแรง ทำให้หวั่นเกรงว่าสังคมไทยจะหาทางออกไม่ได้และนำไปสู้ความตกต่ำในด้านต่าง ๆ ซึ่งผู้เขียนมีความรู้สึกเป็นห่วงปรากฏการณ์ เพราะทุกคนมัวเต้นไปกับกระแสประจำวัน คือการเสนอข่าวสารของสื่อ และการโฆษณาชวนเชื่อของแต่ละฝ่าย ซึ่งในสังคมไทยกำลังตกอยู่ในภาวะขาดที่พึ่งทางความคิดและแบบอย่างอันเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ยิ่งจากผลการวิจัยพบว่าเยาวชนของไทยมองการเมืองเป็นเรื่องน่าเบื่อหน่าย และมีนักศึกษาที่เข้าร่วมในกิจกรรมที่เป็นประชาธิปไตยค่อนข้างน้อย สำหรับผู้ที่มาร่วมชุมนุมทางการเมืองส่วนใหญ่เป็นคนอายุมากซึ่งมักจะ 40 ปี ขึ้นไป ทำให้เป็นห่วงว่าในอนาคต เราจะได้นักการเมืองแบบใด มีอุดมการณ์ที่เสียสละหรือไม่ การปลูกฝังประชาธิปไตยต่อเยาวชนจึงเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ในสภาวะความขัดแย้งนี้ เราจำเป็นต้องสร้างเยาวชนรุ่นใหม่ที่มีความรู้และเข้าใจการเมืองอย่างแท้จริง จึงจะสามารถวิเคราะห์ ได้อย่างเข้าใจ และเท่าทันกับสิ่งที่แอบแฝงประชาธิปไตย เข้ามามีอิทธิพลทางการเมือง
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้ให้ความสำคัญต่อการศึกษาของไทยว่า
“ พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการจัดการศึกษาในทุกระดับและทุกรูปแบบ ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม จัดให้มีแผนการศึกษาแห่งชาติ กฎหมายเพื่อพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ จัดให้มีการพัฒนาคุณภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาให้ก้าวหน้าทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก รวมทั้งปลูกฝังให้ผู้เรียนมีจิตสำนึกของความเป็นไทย มีระเบียบวินัย คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม และยึดมั่นในการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
จะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญได้กำหนดให้การจัดการศึกษาต้องมีการส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เข้าใจถึงระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและมีจิตสำนึกในการคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวม ซึ่งกฎหมายหรือนโยบายของหน่วยงานอื่นต้องสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตามการแถลงการณ์นโยบายทางการศึกษาของนายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภาด้านการศึกษาไม่ได้กล่าวถึงการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขไว้โดยตรง หากแต่ได้กำหนดให้มีการสอนวิชาประวัติศาสตร์เพื่อให้นักเรียนมีความรักชาติ และจงรักภักดีต่อชาติเป็นหลัก
หากมองไปยังนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปีงบประมาณ 2552 ซึ่งมีทั้งหมด 6 ข้อ คือ
1. ปลูกฝังคุณธรรม ความสำนึกในความเป็นชาติไทยและวิถีชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่นักเรียนทุกคน
2. เพิ่มอัตราการเข้าเรียนในทุกระดับ ทั้งเด็กทั่วไป ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส ลดอัตราการออกกลางคัน และพัฒนารูปแบบการให้บริการการศึกษาขั้นพื้นฐานแก่เยาวชนที่อยู่นอกระบบการศึกษา
3. ยกระดับคุณภาพสถานศึกษาสู่มาตรฐานการศึกษาของชาติ พัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างเป็นระบบ เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานและการเรียน การสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญที่มุ่งพัฒนาผู้เรียนตามมาตรฐานของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างเต็มตามศักยภาพ
4. เร่งรัดพัฒนาความพร้อมในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารให้แก่สถานศึกษาและหน่วยงานการศึกษาในสังกัดเพื่อการเรียนรู้และการบริหารจัดการ
5. สร้างความเข้มแข็งและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการบริหารและ การจัดการศึกษาเพื่อรองรับการกระจายอำนาจอย่างมีประสิทธิภาพบนหลักธรรมาภิบาลในสำนักงาน เขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา
6. เร่งพัฒนาการศึกษาและคุณภาพชีวิตนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้
จากทั้ง 6 ข้อไม่มีข้อใดกล่าวถึงการส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตยซึ่งเป็นต้นตอปัญหาของสังคมไทยในปัจจุบันโดยตรงเลย ในนโยบายข้อที่ 6 นั้นก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยอยู่บ้าง ในเรื่องการกระจายอำนาจตามหลักธรรมภิบาล ซึ่งนโยบายในข้อ 6 นี้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาก็ได้นำไปกำหนดเป็นนโยบายการส่งเสริมกิจกรรมประชาธิปไตยในโรงเรียน

อย่างไรก็ตามในการประเมินการประกันคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนได้กำหนดให้ทุกโรงเรียนจัดกิจกรรมส่งเสริมประชาธิปไตยตาม มาตรฐานที่ 15 กล่าวคือ สถานศึกษาต้องมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมคุณภาพผู้เรียนอย่างหลากหลาย ในตัวบ่งชี้ที่ 15.7 ต้อง มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตย โดยมุ่งเน้นการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนและบรรยากาศในโรงเรียนที่ส่งเสริมความรู้ความ เข้าใจ ลักษณะนิสัยและพฤติกรรมประชาธิปไตย สถานศึกษาในทุกระดับจึงมีการจัดกิจกรรมที่เป็นประชาธิปไตยอย่างเป็นระบบเป็นส่วนใหญ่ เพื่อรองรับการประเมินของของสมศ.
จากนโยบายดังกล่าวข้างต้นผู้บริหารจะต้องดำเนินการพัฒนาความคิดที่เป็นประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในสถานศึกษาของตนให้ได้ การสร้างประชาธิปไตยในโรงเรียน จะเป็นการส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ตระหนักถึงความสำคัญของระบอบประชาธิปไตยซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับการนำไปใช้สังคมและชุมชน เป็นการเตรียมความพร้อมผู้เรียนให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต เป็นการสร้างลักษณะนิสัยให้ผู้เรียนได้รู้จักระเบียบ ข้อบังคับ กฎเกณฑ์และกติกาของสังคม ตลอดจนรู้จักรับผิดชอบหน้าที่ของตน ทีมงาน รับผิดชอบชุมชน และสังคมได้อย่างเหมาะสม โดยโรงเรียนต้องนำรูปแบบประชาธิปไตยมาใช้ในโรงเรียน เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีความเป็นประชาธิปไตย รู้จักปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามภาระหน้าที่ และมีวิถีชีวิตตามหลักประชาธิปไตย สามารถดำรงตนให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเป็นประชาธิปไตย ผู้บริหารการศึกษาทุกท่านในฐานะที่เป็นผู้ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในการจัดการเรียนการสอน จึงควรสนับสนุนสิ่งต่างๆ ดังนี้
1. กิจกรรมส่งเสริมประชาธิปไตยในโรงเรียน เช่น กิจกรรมคณะกรรมการนักเรียน กิจกรรมวันสำคัญ กิจกรรมดำเนินตามนโยบาย กิจกรรมสร้างเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ กิจกรรมพิเศษต่าง ๆ กิจกรรมกลุ่มการแสดง กิจกรรมชมรมและองค์กรต่าง ๆ ตลอดจนกิจกรรมกีฬา เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมประชาธิปไตยในโรงเรียนเป็นอย่างดี
2. ต้องส่งเสริมการสร้างบรรยากาศประชาธิปไตย โดยการจัดบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมภายในโรงเรียนให้ดี จะช่วยเสริมสร้างแนวความคิด จิตใจที่เป็นประชาธิปไตย ด้วยเหตุว่าคนที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมใด ย่อมต้องปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมนั้นให้ได้จึงจะสามารถดำรงชีวิตและอยู่ร่วมในสังคมนั้นอย่างเป็นสุข การสร้างบรรยากาศประชาธิปไตย จึงถือว่าเป็นการสร้างระบบและการยอมรับซึ่งกันและกัน
3. ส่งเสริมครูทุกคน ให้จัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับประชาธิปไตยโดยให้สอดแทรกอย่างสม่ำเสมอทั้งในห้องเรียน และนอกห้องเรียนโดยสัมพันธ์กับวิชาที่ตนเองรับผิดชอบ
4. ส่งเสริมผู้เรียนให้เข้าใจในความเป็นประชาธิปไตย รู้จักปกครองตนเอง สามารถแสดงความคิดเห็นและยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น มีระเบียบวินัย มีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม และสามารถนำความเป็นประชาธิปไตยไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสม
เพราะฉะนั้นผู้บริหารการศึกษาจำเป็นต้องปฏิรูปการเรียนการสอนและการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนในชั้นเรียนใหม่เพื่อสร้างบรรยากาศในสถานศึกษา ให้เกิดขึ้นบรรยากาศประชาธิปไตย
หรือจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนมีวิถีประชาธิปไตยคือการนำหลักประชาธิปไตยมาใช้ในชีวิตประจำวันจนเป็นนิสัย เน้นหลักธรรม ดังนี้
1.ด้านคารวธรรม มีพฤติกรรมที่แสดงออก ดังนี้
1.1 เคารพในสถาบันพระมหากษัตริย์
- การแสดงความเคารพเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ในทุกโอกาส
- การร่วมกิจกรรมต่างๆที่จัดเพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ในโอกาสวันสำคัญต่างๆ
- การไปรับเสด็จเมื่อพระมหากษัตริย์ หรือพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จไปในถิ่นที่อยู่ หรือบริเวณใกล้เคียง
- การปฏิบัติต่อสัญลักษณ์ที่แสดงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น ธงชาติ พระบรมฉายาลักษณ์ เพลงสรรเสริญพระบารมี ฯลฯ ด้วยความเคารพ เมื่อได้ยิน หรือเห็นบุคคลใดแสดงกิริยาวาจา หรือมีการกระทำอันไม่สมควรต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ต้องกล่าวตักเตือนและห้ามไม่ให้ปฏิบัติเช่นนั้นอีก
1.2.เคารพซึ่งกันและกันทางกาย
- การทักทาย
- การให้เกียรติผู้อื่น
- การแสดงความเคารพแก่บุคคลซึ่งอาวุโสกว่า
- การให้การต้อนรับแก่บุคคล
- การแสดงความเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน
1.3 เคารพกันทางวาจา
- การพูดให้เมาะสมกับกาลเทศะ
- การใช้คำพูดเหมาะสมตามฐานะของบุคคล
- การพูดจาสุภาพ ไม่ก้าวร้าว ส่อเสียด
- การไม่พูดในสิ่งที่จะทำให้ผู้อื่น เกิดความเดือดร้อน
- ไม่นำความลับของบุคคลอื่นไปเปิดเผย
- ไม่พูดนินทาหรือโกหกหลอกลวง
1.4.เคารพสิทธิของผู้อื่น
- การไม่ล่วงละเมิดสิทธิของผู้อื่น ทั้งทางกายหรือวาจา
- การรู้จักเคารพในสิทธิของคนที่มาก่อนหลัง
- การเคารพในความเป็นเจ้าของ สิ่งของเครื่องใช้
- การรู้จักขออนุญาต เมื่อล่วงล้ำเข้าไปในที่อยู่อาศัยของบุคคลอื่น
1.5 เคารพในความคิดเห็นของผู้อื่น การยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น เมื่อมีผู้พูดเสนอความคิดเห็น ควรฟังด้วยความตั้งใจและใคร่ครวญด้วยวิจารญาณ หากเห็นว่าเป็นการเสนอแนวความคิดที่ดี มีประโยชน์มากกว่าความคิดเห็นของตนเองก็ควรยอมรับและปฏิบัติตาม
1.6 เคารพในกฎระเบียบของสังคม การยึดมั่นในกฎระเบียบของสังคม เช่น วัฒนธรรมประเพณี กฎเกณฑ์ของสังคม และกฎหมายของประเทศ
1.7 มีเสรีภาพและใช้เสรีภาพในขอบเขตของกฎหมายและขนบธรรมเนียมประเพณี ด้าน
2.สามัคคีธรรม มีพฤติกรรมที่แสดงออกดังนี้
2.1 การรู้จักประสานประโยชน์ โดยถือประโยชน์ของส่วนรวม หรือประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้ง ได้แก่
- การทำงานร่วมกันอย่างสันติวิธี
- การรู้จักประนีประนอม โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่ส่วนรวมเป็นใหญ่
- การเสียสละความสุขส่วนตน หรือหมู่คณะ เพื่อประโยชน์ของส่วนรวมหรือของชาติร่วมมือกันในการทำงาน หรือทำกิจกรรมอย่างหนึ่งอย่างใดร่วมกัน โดยมีบุคคลผู้ร่วมงาน ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ในการทำงานร่วมกันนี้ จะต้องมีการวางแผนในการทำงานร่วมกัน เมื่อถึงขั้นตอนของการทำงานก็ช่วยเหลือกันอย่างตั้งใจ จริงจัง ไม่หลีกเลี่ยงหรือทำแบบเอาเปรียบผู้อื่น
2.3 เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม
2.4 รับผิดชอบต่อหน้าที่ ที่ได้รับมอบหมายจากส่วนรวมและหน้าที่ต่อสังคม
2.5 ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนในกลุ่ม ในหน่วยงานและสังคม
3.ด้านปัญญาธรรม มีพฤติกรรมที่แสดงออก ดังนี้ 3.1 การไม่ถือตนเป็นใหญ่
- การรู้จักรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
- การยอมรับฟัง และปฏิบัติตามมติของเสียงส่วนมากในที่ประชุมหรือในการทำงานต่างๆ
- การรู้จักเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี
3.2 เน้นการใช้ปัญญา ใช้เหตุผลและความถูกต้อง ในการตัดสินปัญหาทั้งปวง ไม่ใช่ใช้เสียงข้างมาก ในการตัดสินปัญหาเสมอไป 3.3 เมื่อมีปัญหาใดเกิดขึ้น หรือเมื่อมีเรื่องที่จะต้องตัดสินใจ ทุกคนต้องร่วมกันคิดและร่วมกัน ตัดสินใจโดยใช้เหตุผล
3.4 ในกรณีที่มีปัญหาโต้แย้งในหมู่คณะ จะต้องพยายามอภิปราย จนกระทั่งสามารถชักจูงให้ทุกคนเห็นคล้อยตาม เมื่อเกิดกรณีที่ต่างก็มีเหตุผลที่ดีด้วยกัน และไม่อาจชักจูงให้กลุ่มหันไปทางใดทางหนึ่งเท่านั้น จึงจะใช้วิธีการออกเสียง
หากสามารถทำให้นักเรียนมีความคิดวิถีชีวิตเป็นประชาธิปไตยได้แล้วการเคารพในสิทธิหน้าทีคนอื่นก็จะติดตามมา การทะเลาะกันแบบไร้เหตุผลก็จะไม่เกิดขึ้น นอกจากเราจะมี คารวะธรรม สามัคคีธรรม ปัญญาธรรมแล้ว ผู้เขียนขอเสนอแนะแนวทางการสร้างภูมิคุ้มกันที่สำคัญแกเยาวชนไทยก่อนจะสายไปครูผู้สอน ต้องแทรกเนื้อหาและพัฒนาการสอนดังนี้
1.สอนให้นักเรียนเข้าใจความแตกต่างของลัทธิ การเมือง เนื่องจากมีการพูดหรือโฆษณาชวนเชื่อว่า สิ่งที่ตนเชื่อเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ฝ่ายตรงข้ามไม่เป็นประชาธิปไตย ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาก็เชื่อตามดังนั้นผู้บริหารต้องดำเนินการให้ครูได้ย้ำถึงระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงเป็นอย่างไรซึ่งแต่ละฝ่ายต่างคิดว่าตนถูก เยาวชนก็จะหลงเดินตาม

2.สอนให้นักเรียนรู้จักสิทธิและเสรีภาพตามกฎหมาย นักเรียนไทยหรือคนไทย ยังขาดความเข้าใจในการเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพของตนตามกฎหมายทำให้ข้าราชการหรือหน่วยงาน ต่าง ๆ ดำเนินการไปตามอำเภอใจ ยกตัวอย่าง ประชาชนในภาคอีสานของเรานี้รู้จักเดินขบวนไปกรุงเทพเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและทำตามที่นักการเมืองต้องการ แต่ ปัญหาที่ตนประสบอยู่ในชีวิตประจำวันไม่มีใครออกมาเรียกร้องหรือเดินขบวนเลย เช่น
1.การฉ้อราษฎร์บังหลวงขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
2.การบริการที่แย่ของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เช่น รถไฟ น้ำประปา
3.การกดราคาสินค้าเกษตรของพ่อค้า
4.การที่เจ้าหน้าที่รัฐร่วมมือกับแก๊งต้มตุ๋นแรงงาน หลอกลวงประชาชน
ฉะนั้นครูผู้สอนในโรงเรียนจะต้องสอนให้นักเรียนรู้จักสิทธิและหน้าที่ของชาวไทยให้กระจ่าง
เพื่อให้เข้าใจสิทธิโดยกฎหมายของประชาชน โดยเฉพาะกฎหมายว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพ กฎหมายแรงงาน กฎหมายที่ดิน หากถูกข้าราชการรังแกจะทำอย่างไร นอกจากนั้นครูต้องลบล้างความเชื่อ
ผิด ๆ ที่ปลูกฝังในสังคม ให้เป็นไปตามความต้องการของนักการเมือง เช่น
1.ประชาธิปไตยเป็นเสียงข้างมากเท่านั้นจึงเรียกว่าเป็นประชาธิปไตย
2.ศาลยุติธรรมและองค์กรทางศาลไทยไม่น่าเชื่อถือไม่ควรเคารพ
3.คนรวยมาเป็นนักการเมืองไม่มีทางโกงเพราะเขามีฐานะร่ำรวยแล้ว
4.สถาบันหลักทั้ง 4 ไม่ควรยุ่งเกี่ยวกัน นายกรัฐมนตรีควรมีอำนาจสูงสุด เมื่อนักเรียนเข้าใจหลักสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่ควรรู้อย่างแท้จริงก็ไม่ตกเป็นเครื่องมือของนักการเมืองที่ไม่ดี
3. ผู้สอนจะต้องทำความเข้าใจกับนักเรียนนักศึกษา ให้รู้ถึงความสัมพันธ์ของเศรษฐศาสตร์และการเมือง ว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างไร นโยบายทางการเมืองมีผลต่อเศรษฐกิจของประเทศและของโลกอย่างไร ให้นักเรียนได้เข้าใจว่านักการเมืองเข้ามาเล่นการเมืองเพื่ออะไร นักการเมืองที่ดีต้องทำตัวอย่างไร ซึ่งการเรียนการสอนแบบนี้เหมาะสมกับนักเรียนระดับมัธยมและนักศึกษามหาวิทยาลัยการทัศนศึกษา การทำการค้นคว้านอกสถานที่ จะทำให้นักเรียนเข้าใจมากยิ่งขึ้น ให้นักเรียนค้นคว้าข้อมูลเรื่อง ราคาข้าว ราคายาง ราคาสินค้า ตลาดหุ้นว่าเกี่ยวข้องกับนโยบายรัฐอย่างไรและต้องแสดงให้เห็นชัดว่านโยบายทางการเมืองส่งผลต่อนักเรียนและครอบครัวอย่างไร ยกตัวอย่างประเทศประชาธิปไตยที่ประสบผลสำเร็จทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ ให้เป็นตัวอย่างชัดเจน
ครูผู้สอนต้องค้นคว้าและทุ่มเท การเรียนการสอนต้องใช้กระบวนการกลุ่ม ให้มีการ
วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางทำให้นักเรียนรู้เท่าทัน การโฆษณาชวนเชื่อที่สร้างความแตกแยก
4.จัดการเรียนการสอนที่เน้นการคิดวิเคราะห์ สังคมอีสานชอบข่าวลือ ชอบฟังพูดปากต่อปาก
เช่น ข่าวลือว่าผีปอปกำลังมาทางนั้นทางนี้ จะไปเร็วมาก ไม่เกินสามวัน หน้าบ้านคนก็จะเต็มไปด้วยสิ่งแปลกปลอม ป้องกันผีเต็มบ้าน ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจเลยว่า ผลการประเมินโรงเรียนของสมศ.โรงเรียนต่าง ๆ ไม่ผ่านการประเมินในหัวข้อการคิดวิเคราะห์ของนักเรียน และไม่ผ่านมาตรฐานที่ 5 การดำเนินให้ประสบผลสำเร็จตามหลักสูตรคือ ผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนและการคิดวิเคราะห์ของนักเรียน เนื่องจากไม่นิยมอ่านหนังสือ ดังนั้นผู้บริหาร ต้องส่งเสริมนโยบายรักการอ่าน ให้มากขึ้น รวมทั้งผลักดันให้ครูจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนรู้จักคิดวิเคราะห์ การออกข้อสอบให้ใช้ข้อสอบแบบอัตนัย เพื่อฝึกให้นักเรียนคิดเป็น เขียนเป็น อันเป็นปัญหาใหญ่ของการศึกษาไทยขณะนี้
การที่นักเรียนคิดวิเคราะห์ไม่เป็นนี้เองจึงทำให้ขบวนการหลอกลวงต่าง ๆ ประสบผลสำเร็จในการเอาเปรียบประชาชนไม่ว่าจะเป็นการหลอกลวงส่งแรงงานไปนอก หลอกลวง
ให้ปลูกพืชที่ขายไม่ได้ เช่น ตะกู หรือมะม่วงหิมพานต์ หรือถูกนักพูดโต้วาทีชาวใต้ 3 คน หลอกให้ไปเดินขบวนกรุงเทพ หรือถูกนายทุนหลอกให้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เป็นต้น
การฝึกคิดวิเคราะห์ทำให้นักเรียนแยกแยะเข้าใจรู้จักสิทธิและหน้าที่ของตนตามสิทธิเสรีภาพของมนุษยชาติ และสิทธิเสรีภาพตามกฎหมายประชาธิปไตยที่แท้จริงจะเกิดขึ้นในสังคมไทย
สำหรับการปรับปรุงการเรียนการสอนทั้ง 4 ประการหลังผู้เขียนได้คิดขึ้นเองหลังจากประมวลสถานการณ์และความรู้ จากการสอนนักเรียน ยังได้ผลไม่น่าพอใจ เนื่องจากยังมีปัจจัยอื่นมาเกี่ยวข้อง ซึ่งต้องใช้เวลาและความตั้งใจเป็นอย่างมากในการสอนนักเรียน ให้เปลี่ยนวิธีคิดได้ อย่างไร
ก็ตามความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ถ้าผู้ใหญ่ทำตัวเป็นแบบอย่างนำทางเยาวชน โดยมีผู้บริหารเป็นแกนนำหลัก
เมื่อโรงเรียนสามารถพัฒนาผู้เรียน ให้เข้าใจ เข้าถึง และรักในความเป็นประชาธิปไตย เป็นอย่างดียิ่งแล้ว ในอนาคต ภาพแห่งความ ขัดแย้งที่ปรากฏอยู่ในสังคมไทย ก็จะค่อยลบเลือนไป กระทั่งไม่ปรากฏขึ้นอีก จึงเป็นหน้าที่ของผู้บริหารการศึกษาทุกท่าน ที่จะสร้างแนวทางในการแก้ปัญหาของสังคม เพื่อให้สังคมไทยปราศจากความขัดแย้งที่รุนแรงตลอด





อ้างอิง
จิระ เงินงอก .คู่มือเตรียมสอบ ภาค ข ( ความรู้ทั่วไป ) .มหาวิทยาลัยราชภัฎชัยภูมิ:ชัยภูมิ, 2550
เวปไซด์
http://gotoknow.org/blog/piyapoch/211178
http://gotoknow.org/blog/faii/219678

วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

คนโง่ คนฉลาด คนเจ้าปัญญา


คนโง่... คนฉลาด.... คนเจ้าปัญญา ต่าง กันที่คิดและทำ


ว่าด้วยคุณค่าแห่งธุรกิจ
คนโง่ ทำงาน เอาธุรกิจเป็นสรณะ เมื่อธุรกิจรุ่งเรืองก็รุ่งเรืองกับธุรกิจ เมื่อธุรกิจร่วงก็ร่วงหล่นกับธุรกิจ เมื่อธุรกิจสลายก็ตายไปกับธุรกิจ
คนฉลาด เอาธุรกิจเป็นพาหะ เมื่อธุรกิจดีก็ขึ้นขับขี่ขับไป เมื่อธุรกิจเสียหายก็ซ่อมแซม เมื่อธุรกิจพังทลายก็เปลี่ยนธุรกิจใหม่ ขับขี่ ซ่อมแซม และเปลี่ยนธุรกิจเรื่อยไป
คนเจ้าปัญญา เอาธุรกิจเป็นธารณะ จัดระบบเกื้อกูลมหาชน เมื่อเกื้อกูลแล้วก็เก็บเกี่ยวเพื่อการพัฒนาที่ยิ่งใหญ่ เมื่อโลกเปลี่ยนความต้องการก็เปลี่ยนการเกื้อกูล เมื่อโลกหยุดต้องการก็หยุดเกื้อกูล แต่เนื่องจากโลกไม่เคยสิ้นสุดในความต้องการเขาจึงมีงานธุรกิจเสมอตราบที่เขาประสงค์เกื้อกูล

ว่าด้วยการบริหารธุรกิจ
คนโง่ ทำงาน ทำธุรกิจด้วยความอยากได้ ผู้คนจึงหวาดระแวงและถอยหนี
คนฉลาด ทำธุรกิจด้วยความอยากแลกเปลี่ยนผู้คนจึงพิจารณาและคบหาตราบที่ยังได้ประโยชน์
คนเจ้าปัญญา ทำธุรกิจด้วยความอยากให้ ผู้คนจึงต้อนรับด้วยความยินดีแม้จะต้องให้อะไรตอบบ้างก็ตาม

ว่าด้วยการบริหารระเบียบ
คนโง่ ทำงานเพื่อความถูกต้องตามอักขระ จึงเป็นได้แค่เสมียน
คนฉลาด ทำงานเพื่อความถูกต้องตามเจตนารมณ์ จึงได้เป็นผู้บริหาร
คนเจ้าปัญญา ทำงานเพื่อความถูกต้องต่อผลสูงสุด จึงได้เป็นเจ้าของ

ว่าด้วยการทำงาน
คนโง่ ทำงานเพื่อเงิน จึงได้เงินมาอย่างยากเย็น และมักไม่ได้คุณค่าอื่น ๆ ของงาน
คนฉลาด ทำงานเพื่องาน จึงได้ผลงานที่ยิ่งใหญ่ และได้เงินตามมาโดยง่าย
คนเจ้าปัญญา ทำงานเพื่อหยิบยื่นคุณค่าแก่สังคม เขาจึงได้ผลงานที่น่าชื่นชม เงิน ชื่อเสียงและมิตรมหาศาลย่อมตามมาเสมอ

ว่าด้วยการกล่าวหา
คนโง่ มักกล่าวหาผู้อื่น จึงมีแต่ศัตรูรอบตัว นำมาซึ่งความหายนะและความตาย
คนฉลาด ชอบกล่าวหาตัวเอง จึงได้รับความสงสารไปทั่ว และนำมาซึ่งความสมเพช
คนเจ้าปัญญา ไม่กล่าวหาใคร ด้วยแท้จริงไม่มีใครอยากผิด แต่พลาดไปเพราะไม่เห็นความผิด หรือเห็นแต่ไม่มีโอกาสเลือกสิ่งที่ถูก หรือมีโอกาสแต่ไม่มีกำลังพอที่จะตัดสินใจเลือก เขาจึงให้กำลังใจทุกคนสู่ความแกล้วกล้า ทุกคนจึงเป็นหนี้บุญคุณเขา และยอมรับเขาดั่งมิตรผู้ประเสริฐ

ว่าด้วยการวิพากษ์วิจารณ์
คนโง่ มัววิพากษ์วิจารณ์นินทาคนอื่น เพราะไม่จริงใจกับใคร จึงไม่มีใครจริงใจด้วย เขาย่อมมีแต่มิตรเทียม
คนฉลาด มัววิพากษ์วิจารณ์ตนอย่างที่เป็น โดยไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงของตนที่ต้องเป็นไป คนอื่นจึงมักไม่เข้าใจเขาที่แปรเปลี่ยนไปเสมอ และไม่มีคนเข้าใจจริงเคียงข้างเขา
คนเจ้าปัญญา ย่อมไม่วิพากษ์วิจารณ์ใคร ด้วยแจ่มแจ้งว่าทุกคนก็เปลี่ยนไป เขาย่อมเลี่ยงคนที่ชอบวิจารณ์ตนและคนอื่น ทุกคนจึงสบายใจที่จะอยู่ใกล้เขา เขาย่อมมีมิตรแท้และมั่นคง

ว่าด้วยผู้พูด
คนโง่ ชอบให้อารมณ์พูด จึงผิดพลาดมาก ล้มเหลวบ่อย
คนฉลาด ชอบใช้เหตุผลพูด จึงถูกต้องมากแต่มักไร้ความรู้สึก และประสบแต่ความสำเร็จอันแห้งแล้ง
คนเจ้าปัญญา ชอบใช้ธรรมะพูด จึงบริสุทธิ์เหนือถูกเหนือผิด และเป็นหนึ่งเดียวกับความสำเร็จโดยธรรม

ว่าด้วยการพูดจา
คนโง่ ชอบเถียง เขาจึงได้การทะเลาะและความบาดหมางแทนความรู้
คนฉลาด ชอบถาม เขาจึงได้ความรู้และมิตรภาพมากกว่าความแตกแยก
คนเจ้าปัญญา ชอบเฉยสังเกตลึก เข้าใจสิ่งต่าง ๆ อย่างลึกซึ้ง แล้วจึงนำเสนออย่างเหมาะสม (รอให้คนฉลาดถาม)

ว่าด้วยความโง่และความฉลาด
คนโง่ ชอบคิดว่าตนฉลาดแล้ว จึงดักดานอยู่กับความโง่ของของตนตามที่เป็น
คนฉลาด ชอบคิดว่าตนโง่ จึงชอบแกล้งโง่ และมักโง่ได้สมปรารถนาในที่สุด
คนเจ้าปัญญา ย่อมเห็นความโง่และความฉลาดที่ซ้อนกันอยู่ และรู้วิธีที่จะยกจิตสู่ปัญญายิ่ง ๆ ขึ้นไป จึงค่อย ๆ หายโง่ และเลิกฉลาดโดยลำดับ

ว่าด้วยการบริหารกระบวนการคิด
คนโง่ ชอบไหลตามความคิด จึงมีภารกิจที่ไม่รู้ตัวอย่างไม่สิ้นสุด
คนฉลาด ชอบสร้างความคิด จึงมีจินตนาการอันสวยหรูแต่ไม่เป็นจริงอย่างไม่สิ้นสุด
คนเจ้าปัญญา ชอบบริหารความคิด สร้างสรรค์ ตกแต่ง ตัดต่อ และละวางเมื่อสมควร จึงได้ประโยชน์จากความคิดสูงสุด

ว่าด้วยความคิด
คนโง่ ทำก่อนแล้วถึงคิด จึงผิดพลาดอยู่เนือง ๆ ต้องเปลืองเวลาและความรู้สึกตามแก้ปัญหาไม่สิ้นสุด
คนฉลาด คิดมากก่อนแล้วถึงทำ จึงเพ้อเจ้ออยู่เป็นประจำ แม้ประสงค์จะทำดีมากแต่ทำได้น้อง เพราะเขม่าความคิดปิดกั้นความหาญกล้า
คนเจ้าปัญญา คิดไปทำไป จึงทำได้อย่างที่คิด และคิดพอดีที่ทำ ประหยัดพลังงานและบริหารเวลาได้เหมาะสม ลดความหลอนป้องกันความผิดพลาดขื่นขมและประสบความสำเร็จโดยไม่เหน็ดเหนื่อย

ว่าด้วยการรู้จักแจ้งตนเอง
คนโง่ อยู่กับตนก็ไม่รู้จักตน จึงกลัวตนไปต่าง ๆ นานา
คนฉลาด อยู่กับตนและรู้จักตนดี แต่ไม่รู้สิ่งที่ดีกว่าตน
คนเจ้าปัญญา ย่อมรู้จักตนดีที่สุดจนทะลุความไม่มีตน จึงบริหารตนได้เสมือนสร้างสรรค์ฟองสบู่ ใช้ประโยชน์จนสุดกู่แล้วก็สลายมลายวับไป

ว่าด้วยการบริหารเป้าหมาย
คนโง่ มักใช้ชีวิตอย่างไร้เป้าหมาย จึงว่ายไปแล้ววนกลับมาที่เดิม ต้องเริ่มต้นใหม่ร่ำไปสู่อนาคตที่ไร้ทิศทาง
คนฉลาด มักตั้งเป้าหมายชีวิตยิ่งใหญ่ จึงไม่พึงพอใจกับภาวะที่ตนเป็นสักที เพราะดูที่ไรก็ยังห่างไกลเป้าหมายเสมอ
คนเจ้าปัญญา ย่อมมีเป้าหมายสูงสุดแห่งชีวิต และมีเป้าหมายน้อยนิดสานสู่เป้าหมายใหญ่ จึงมีบันไดความสำเร็จให้บรรลุเป้าเป็นลำดับ ได้กำลังใจและหรรษาไปตลอดหนทาง อย่ามัวโง่ งมงาย จงขวนขวายพัฒนา และอย่าฉลาดอย่างขาดปัญญา จงเป็นมนุษย์เลิศปัญญายิ่งๆขึ้นไป ที่สำคัญแท้จริง จงมีปัญญาจริงแท้ในจิตใจให้ได้ก่อนอื่น

ว่าด้วยทัศนคติ

คนโง่ ดูหมิ่นความดี มองโลกในแง่ร้ายด้านเดียว จึงได้รับแต่สิ่งชั่วร้ายมาพาชีวิตตกต่ำ กลายเป็นทาสสถานการณ์ ยามพบสิ่งดีจะไม่เข้าใจ จึงพลาดโอกาสใหญ่
คนฉลาด ชอบทำดีและคิดดี มักมองโลกในแง่ดีด้านเดียว จึงได้รับแต่สิ่งดีโดยมาก ครั้งพบสิ่งชั่วร้ายจะทนไม่ได้ ทำใจไม่เป็น ต้องถอยหนีสถานการณ์ ดวงใจแตกร้าว ชีวิตจึงมีแต่ความระคายเคืองและปฏิฆะเร้นลึก
คนเจ้าปัญญา ละชั่วเด็ดขาด และทำดีเป็นนิสัย โดยไม่ติดดี แล้วละแม้ความดีเข้าสู่ความบริสุทธิ์ จึงเห็น ที่สุดแห่งความเป็นจริงแท้แห่งโลกว่า ทุกสิ่งในโลกมีทั้งคุณโทษ และ ความเป็นกลางอยู่ จึงบริหารสถานการณ์ได้ และทำใจได้ในทุกภาวการณ์

ว่าด้วยความยิ่งใหญ่

คนโง่ เห็นว่าตนยิ่งใหญ่ จึงจมอยู่ในตัวตนอันกระจ้อยร่อย ท่ามกลางเอกภพอันไร้ขอบเขต
คนฉลาด เห็นว่าธรรมชาติยิ่งใหญ่ หวาดกลัวและเทิดทูนธรรมชาติ ส่วนใดที่ตนเข้าไม่ถึงจึงโยนไว้ในอุ้งหัตถ์ของภูติผี และ พระเจ้า
คนเจ้าปัญญา เห็นว่าความบริสุทธิ์ยิ่งใหญ่ เพราะตน ธรรมชาติ และ วิญญาณทั้งหลาย ล้วนมีเป้าหมายสูงสุดที่ความบริสุทธิ์

ว่าด้วยการสร้างความมั่งคั่งร่ำรวย
คนโง่ ชอบรวยทางลัด จึงจนอย่างรวบรัดเช่นกัน
คนฉลาด ชอบรวยเชิงระบบ ต้องอิงอาศัยระบบจึงจะรวย เมื่อระบบล่มก็ต้องล้มไปด้วย
คนเจ้าปัญญา ชอบรวยด้วยความยินดี จึงรวยในทุกระดับที่มี ได้ดูดซับคุณค่าของสิ่งที่มีอย่างแท้จริง รวย และ เป็นสุขเสมอ

ว่าด้วยวิถีการดำเนินชีวิต
คนโง่ มักโกงเขากิน กรรมจึงกระหน่ำให้เสียทรัพย์ ยากจนอยู่ร่ำไป ช้ำมีศัตรูคอยกัดกร่อนตลอดเวลา
คนฉลาด แข่งขันแย่งกันกินอย่างถูกกฎหมาย จึงยุ่งยาก และพลาดไม่ได้ เพราะมีคู่แข่งพร้อมย่ำเหยียบเสมอ
คนเจ้าปัญญา แบ่งปันกันกินตามความพอดี จึงมีคนช่วยสร้าง ช่วยรักษา และช่วยเสพ และ มีมิตรร่วมทุกข์ร่วมสุขโดยมาก

ว่าด้วยการบริหารทรัพย์
คนโง่ บริโภคความมีทรัพย์ นั่งนับอย่างเป็นสุขกับการได้มี
คนฉลาด บริโภคอำนาจของทรัพย์ เป็นสุขกับการที่ได้จับจ่ายใช้สอย
คนเจ้าปัญญา บริโภคคุณค่าของทรัพย์ เป็นสุขกับการสร้าง รักษา สละ และ พัฒนาค่าของทรัพย์เป็นคุณสมบัติอื่นที่ยิ่งกว่า

ว่าด้วยคุณค่า

คนโง่ ยึดความชอบหรือความไม่ชอบ เป็นสำคัญ เขาจึงได้รับความสุข และ ความทุกข์อันบีบคั้น เป็นของตอบแทน
คนฉลาด ยึดความถูกหรือความผิด เป็นสำคัญ เขาจึงได้รับศัตรูต่างความคิดเห็นเป็นรางวัล
คนเจ้าปัญญา ยึดประโยชน์สุขสำหรับทุกฝ่ายในทุกกาลเวลาเป็นสำคัญ เขาจึงได้รับศรัทธา และ มหามิตรเป็นกำนัล

ว่าด้วยพฤติกรรม
คนโง่ ชอบเรียกร้อง เขาจึงเป็นที่น่าเบื่อหน่าย และ น่าสมเพชสำหรับคนทั้งหลาย
คนฉลาด ชอบต่อรอง เขาจึงเป็นที่ระแวง ระวังสำหรับคนทั้งหลาย คบหากันอย่างไม่จริงใจ
คนเจ้าปัญญา อาสา สละ เขาจึงเอาชนะใจคนทั้งหลาย และได้รับความรัก ความนับถือเป็นผลตอบแทน

ว่าด้วยการอวดตน
คนโง่ ชอบอวดตัว เขาจึงได้รับความหมั่นไส้ การต่อต้าน และ ความเจ็บปวดเป็นรางวัล
]คนฉลาด ชอบถ่อมตัว เขาจึงได้รับความเห็นใจ การดูหมิ่น และการช่วยเหลือเป็นรางวัล
คนเจ้าปัญญา ย่อมมั่นใจตนแต่ไม่นิยมแสดงตัว ไม่ยกตน และ ไม่ถ่อมตัว แต่บริหารสัมพันธภาพเพียงเพื่อผลวางตน และ สำแดงบทบาทตามหน้าที่ เขาจึงได้รับความเคารพ และ ความเชื่อถือเป็นรางวัล

ว่าด้วยความเก่งกาจ
คนโง่ มัวอวดเก่ง จึงไม่มีใครเติมความเก่งให้กับเขาอีก
คนฉลาด ชอบเรียนรู้เพื่อพัฒนาความเก่งให้ยิ่งขึ้น และเอาความเก่งมาใช้โดยไม่อวด จึงได้ผลงานดี แต่อาจไม่ทุกเรื่อง และอาจไม่ยั่งยืน
คนเจ้าปัญญา หาความเก่งไม่เจอ แต่ทำอะไรก็ยอดเยี่ยมเสมอ เพราะมองเห็นทุกอย่างในตนและนอกตนเป็นธรรมดา ทุกคุณสมบัติจึงเป็นปกติ และ ยั่งยืนสำหรับเขา

ว่าด้วยจรรยามารยาท
คนโง่ แข็งกระด้าง จึงล้มเหลว ดั่งเปลือกไม้ร่วงหล่นลงสู่ดิน
คนฉลาด ยืดหยุ่น จึงกระจายตนไปในสถานการณ์ต่างๆ ดั่งรากไม้แผ่ซ่านไปในผืนปฐพี
คนเจ้าปัญญา อ่อนโยน จึงเจริญงอกงาม ดั่งยอดไม้ที่ทะยานขึ้นสู่ที่สูง

ว่าด้วยความรักสัมพันธ์
คนโง่ ชอบขอความรักและความเห็นใจ แต่มักได้รับความสมเพชตอบแทนเป็นประจำ
คนฉลาด ชอบให้ความรักความเข้าใจ และมักได้รับความหวังพึ่งพิงตอบเนื่องๆ
คนเจ้าปัญญา ชอบให้ปัญญา ที่จะให้ทุกคนรักและเข้าใจตนเอง จึงได้รับความนับถือและความมีบุญคุณตอบแทนเสมอ

ว่าด้วยแหล่งมิตรภาพ
คนโง่ ชอบหาเพื่อนจากวงเหล้า หรือแหล่งอบายมุข จึงได้แต่มิตรเทียม ที่นำภัยมาสู่ชีวิต และ ต้องแตกแยกกลุ่มแล้วกลุ่มเล่า
คนฉลาด ชอบหาเพื่อนจากงาน จึงได้มิตรดีร่วมอุดมการณ์ แต่เมื่องานหมดหรือล้มเหลว มิตรดีเหล่านั้นก็อันตรธานไป และ บางคนก็ผันมาเป็นศัตรูหรือคู่แข่ง
คนเจ้าปัญญา ชอบหาเพื่อนจากธรรมสภาวะ จึงได้มิตรแท้ที่มีรสนิยมเหนือเงื่อนไขทางโลก ความสัมพันธ์จึงสะอาด และ มีแนวโน้มนิรันดร

ว่าด้วยความสัมพันธ์ เชิงสร้างสรรค์
คนโง่ มองแต่ความชั่วร้ายในคนอื่น จึงหยิบยื่นแต่โทษให้แก่กัน และได้รับความทุกข์ตรมเป้นของกำนัล
คนฉลาด มองแต่ความดีในคนอื่น จงหยิบยื่นคุณค่าให้แก่กัน และได้รับความสุขระคนทุกข์อันประณีต เป็นของกำนัล
คนเจ้าปัญญา มองทั้งความดีและความชั่วในทุกตัวคน จึงควบคุมโทษแม้เล็กน้อย ที่อาจเกิดระหว่างกัน แล้วหยิบยื่นคุณค่าให้เพื่อการพัฒนาร่วมกัน ปฏิสัมพันธ์ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขทุกฝ่ายอย่างต่อเนื่องและได้รับความเจริญรุ่งเรืองยั่งยืนเป็นกำนั


ว่าด้วยวัฒนธรรมสัมพันธ์
คนโง่ เห็นอะไรที่ทำสืบๆกันมา ก็ทำสืบๆกันไป โดยไม่ได้ตรวจสอบประเมินคุณค่าใดๆ จึงผิดๆ ถูกๆ
คนฉลาด เห็นอะไรที่ทำสืบๆ กันมาก็ยังไม่ทำสืบๆกันไป ทำการตรวจสอบประเมินคุณค่าก่อน จึงจะทำสืบๆกันต่อไป จึงได้ประโยชน์ชัดเจน
คนเจ้าปัญญา เห็นอะไรที่ทำสืบๆกันมา และ สืบๆกันไป ก็พยายามพัฒนาต่อเพื่อสิ่งที่ดีกว่า จึงได้ความเจริญโดยลำดับ

ว่าด้วยการสนองตอบผู้มีพระคุณ
คนโง่ เนรคุณผู้มีบุญคุณ จึงไม่มีใครอยากทำดีกับเขาอีก
คนฉลาด กตัญญูผู้มีบุญคุณ จึงมีคนอยากทำดีกับเขามากมาย ซึ่งต้องตามชดใช้บุญคุณกันไม่รู้จบ
คนเจ้าปัญญา ยกระดับผู้มีบุญคุณให้สูงส่งขึ้น จึงทดแทนบุญคุณกันได้หมด และผู้มีพระคุณกลายเป็นหนี้บุญคุณ และพร้อมที่จะให้พระคุณที่ยิ่งกว่า เกิดวงจรการให้ และการรับที่พัฒนาต่อเนื่อง ทุกฝ่ายจึงได้ประโยชน์อย่างยิ่ง

ว่าด้วยการจัดการกับปัญหา

คนโง่ พอพบกับปัญหาอะไรก็โวยวาย ก่อให้เกิดปัญหาทางอารมณ์และความสัมพันธ์อีกหลายชั้น จึงยิ่งเสียหาย
คนฉลาด พอพบปัญหาก็วิเคราะห์ เป็นการใช้ความคิดแก้ปัญหา จึงมักติดบ่วงความคิด วนไปวนมา
คนเจ้าปัญญา พอพบปัญหาอะไรก็วางก่อน พอเป็นอิสระมีอำนาจเหนือกว่าปัญหาแล้ว จึงจัดการกับปัญหานั้นอย่างเหนือชั้น

ว่าด้วยการบริหารและการปกครอง
คนโง่ พยายามบริหารคน จึงวุ่นวายสับสนตามธรรมชาติของคน
คนฉลาด พยายามบริหารประโยชน์สัมพันธ์ จึงยุ่งยากซับซ้อนตามปรารถนาอันไม่สิ้นสุด
คนเจ้าปัญญา พยายามบริหารระบบธรรม จึงสงบลงตัว ณ จุดพอดี

ว่าด้วยความคิด
คนโง่ เห็นแต่ความชั่วร้ายของคนอื่น และโยนความผิดให้ผู้อื่นอยู่เรื่อย เป็นการทำมิตรให้กลายเป็นศัตรู ชีวิตจึงอยู่ในท่ามกลางอันตราย
คนฉลาด เห็นแม้ความชั่วร้ายในตนเอง จึงกล้ายอมรับความจริงและแก้ไขตัว ทำให้ตนดีขึ้น ทำให้แม้ศัตรูก็ยอมรับได้มากขึ้น ชีวิตจึงเจริญและผาสุกโดยลำดับ
คนเจ้าปัญญา เห็นความชั่วร้ายสากล จึงเข้าใจทุกคนในทุกสถานการณ์ เห็น***ส่วนการบริหารคนที่เหมาะสม โดยไม่ทำร้ายคน แต่จะทำลายความชั่วสากลให้สิ้นไป จึงสนุกสนานในการบริหารเรื่อยไป

ว่าด้วยการบริหารธรรม
คนโง่ ดูหมิ่นธรรมะ ชีวิตจึงหายนะ
คนฉลาด ศึกษาธรรมะ จึงรู้ลึก และดำเนินชีวิตด้วยดี
คนเจ้าปัญญา ใช้ธรรมะ จึงดำเนินชีวิตอย่างเหนือชั้น!!

ว่าด้วยความเพียร
คนโง่ มัวขยันในเรื่องไร้สาระ จึงมักพบปะแต่เรื่องไร้ประโยชน์ แล้วมักตัดพ้อว่า ทำไมทำดีแล้วไม่ได้ดี
คนฉลาด มักขยันในเรื่องที่มีคุณมากมีโทษน้อย จึงได้ประโยชน์มากและมีโทษแทรกบ้าง แล้วมักบ่นว่าอุตส่าห์ระวังอย่างสุดแล้วยังพบเรืองร้ายๆ อีก
คนเจ้าปัญญา ขยันทำตนให้เหนือคุณและโทษ จึงบริหารสถานการณ์อย่างอิสระ ไม่ปรากฏเสียงตัดพ้อหรือบ่นว่าอีกต่อไป

ที่มา : ธรรมะสวัสดี

รมณา โรชา


รมณา โรชา

ประวัติ :
รมณา โรชา เป็นนามปากกาของนายนิวัฒน์ บุญญานุรักษ์ เกิดเมื่อ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๐๗ ที่บ้านนาสระ ทุ่งชนบทของอำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ผ่านการศึกษาจากโรงเรียนวัดเชิงแตระ โรงเรียนวัดพระมหาธาตุ โรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช
และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา (มศว.สงขลา) ตามลำดับ
เริ่มสนใจอ่านวรรณกรรมตั้งแต่สมัยเรียนชั้นประถมต้น ต่อมาเมื่อได้อ่านวรรณกรรมสร้างสรรค์เพื่อชีวิตในช่วงมัธยมปลาย จึงใฝ่ฝันที่จะเป็นนักเขียนพร้อมกับอยากเป็นครูเมื่อเข้าสู่ มศว.สงขลา (ปี ๒๕๒๗) ได้เริ่มทำงานวรรณกรรมอย่างจริงจังในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของกลุ่ม “คลื่นใหม่” ซึ่งประกอบด้วย กานติ ณ ศรัทธา มาโนช นิสรา อัฉรา สุขขีมนต์ และ
เกื้อกูล ขวัญทอง รวมทั้งสมาชิกของกลุ่ม “มัชฌิม” คือ ปราศ ราหุล และถนอม การัยภูมิ นอกจากนี้ยังร่วมขับเคลื่อนกิจกรรมทางวรรณกรรม โดยมีที่ปรึกษาคือ สถาพร ศรีสัจจัง เป็นผู้หนุนเนื่องกลุ่มวรรณกรรมมีผลและบทบาทยิ่งต่อพัฒนาการทางด้านความคิดและงานเขียน
มีผลงานทั้งบทกวีและเรื่องสั้นลงพิมพ์ในหนังสือต่างๆ ตั้งแต่ต้นปี ๒๕๒๘ เป็นต้นมาปี ๒๕๓๑
เป็นครูที่ โรงเรียนพังเคนพิทยา อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี เคลื่อนไหวทำกิจกรรมพัฒนาเยาวชน โดยส่งเสริมเด็กให้ศึกษาและสร้างสรรค์งานวรรณกรรม พร้อมทั้งก่อตั้งและเป็นที่ปรึกษาให้แก่เยาวชนกลุ่ม “คำแพง” ปี ๒๕๓๖ รวบรวมผลงานเขียนของเด็ก ๆ พิมพ์เผยแพร่ในชื่อ “คำแพง”ย้ายกลับภูมิลำเนา ทำงานสอน ณ โรงเรียนเสาธงวิทยา อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช สืบสานกิจกรรมพัฒนาการอ่านการเขียน “โครงการเยาวชนรักหนังสือ”เริ่มทำสวน และใช้ชีวิตอย่างสมถะปี ๒๕๓๗มีผลงานตีพิมพ์เผยแพร่ประเภทรวมเรื่องสั้นเล่มแรก “เหยื่อล่อไฟ”ปี ๒๕๓๙ก่อตั้ง “กลุ่มสายธาร” เสริมสร้างการอ่าน เขียน เรียนรู้ชีวิตแก่เยาวชน และรวมพิมพ์ผลงานของเด็กๆ ออกเผยแพร่อย่างต่อเนื่อง คือ “ธารสายใส” เล่ม ๑-๒ "โลกในอุ้งมือ" "ไม่ต้องขานชื่อผมครับครู" “ดอกไม้ในแสงตะวัน”ปี ๒๕๔๐ร่วมก่อตั้งและเป็นกรรมการ รางวัลบทกวี “ปราศ ราหุล” รางวัลของกวีเพื่อกวีปี ๒๕๔๓รวมบทกวีพิมพ์เล่มแรก “ราชพฤกษ์แห่งลานบ้าน” (เข้ารอบ ๕ เล่มสุดท้าย รางวัลซีไรต์)ปี ๒๕๔๗
รวมบทกวี “บางดวงตาสุกใสในดวงดาว” , รวมเรื่องสั้น “แต่ข้ายังไม่ตาย”ปี ๒๔๕๐รวมบทกวี อาผู้หญิงทั้งสาม , รวมบทกวี ถักถ้อยธุลีใจ , นวนิยายเยาวชน "ด้วยปีก…และถั่วพู"ปัจจุบันมีความสุขในการเขียน รื่นรมย์กับการเดินทาง ผิวขลุ่ย สนุกสนานกับการพาเด็กเข้าสู่โลกแห่งวรรณกรรม ครื้นเครงกับมิ่งมิตรในบางวาระ และมีวิถีชีวิตที่เรียบง่ายในบ้านสวน “ขนำเรืองไพร”

รางวัล :
1. ด้วยปีก...และถั่วพู ได้รับรางวัลชมเชย ประเภทนวนิยายสำหรับเยาวชน จากโครงการแว่นแก้ว ปี 2550

ตาลสร้างไทร


ตาลสร้างไทร

นกน้อยปล่อยเมล็ดไทร พึ่งตาลใหญ่ฝากเผ่าพันธุ์
ตาลรับด้วยสุขสันต์ มั่นเลี้ยงเจ้าเฝ้าเปรอปรน
ไทรน้อยค่อยเติบใหญ๋ ตาลกั้นให้แดดลมฝน
มูลนกค้างคาวปน เลี้ยงไทรจนเติบใหญ่ครัน
ไทรงามรากแยกงอก สยายออกล้อมตาลนั้น
บีบอัดรัดผูกพัน จนตาลเจ้าเศร้าทรุดลง
รากไทรแทรกลงดิน ตาลก็สิ้นเพราะรักหลง
ต้นไทรกลับยืนยง บนซากตาลผู้ตรอมตาย

๑๐ ธันวาคม ๒๕๕๑

กลุ่มวรรณกรรมป่งใบ


ย้อนรอยกลุ่มวรรณกรรมป่งใบ
เอ่ยถึงกลุ่มวรรณกรรมป่งใบเมื่อหลายปีก่อนมีนักเขียนสกุลป่งใบเป็นสกุลต่อท้ายไม่ว่าจะเป็นสุขุมพจน์ คำสุขุม ทัศนาวดี อณูทิพย์ ธารทอง ราชบดินทร์ ประกาย สว่าง ไชยสงค์ และอีกหลายคน ในวันนี้กลุ่มวรรณกรรมป่งใบแตกกิ่งก้านสาขาออกดอกผลิใบให้ชื่นชมหลายต้น บ่ายวันหนึ่งเมื่อต้นฤดูหนาวได้มีโอกาสอณูทิพย์ ธารทองนักเขียน หนุ่มจากลุ่มน้ำโขง หนึ่งในนักเขียนกลุ่มป่งใบ เพื่อรำลึกถึงความหลัง เมื่อครั้งรวมกลุ่มวรรณกรรมในมหาวิทยาลัย ดูเหมือนว่าเขาจะมี ความสุขกับการที่ได้เล่าถึงเพื่อนฝูง เล่าถึงความหลังในบรรยากาศเก่า ๆ
อยากทราบความเป็นมาของกลุ่มวรรณกรรมป่งใบ
ป่งใบเป็นภาษาอีสาน คำว่า "ป่ง" หมายถึงผลิ หรือแตก ใบ ก็คือ ใบไม้ เหมือนกับกลุ่มของพวกเราในยุคนั้นที่เริ่มล้มลุกคลุกคลานในเส้นทางสายวรรณกรรม ความคิดเรื่องการจัดตั้งกลุ่มวรรณกรรมน่าจะมาจ ากพี่คำผา เพลงพิน(เสียชีวิตแล้ว) คำว่า "ป่งใบ" ถ้าจำไม่ผิดมาจากชื่อบทกวีในหนังสือเสียงสั่งจากอีสานของพี่คำผา ซึ่งเป็นผู้รอบรู้ทางวรรณกรรมที่บ้านของท่านจะเป็นร้านเช่าหนังสืออยู่บ้านโนนศรีสวัสดิ์มีหนังสือทุกประเภทตั้งแต่บทกวี เรื่องสั้น การ์ตูน พวกเราชอบไปเช่าหนังสือมาอ่านตอนหลังสนิทกันก็ยืมอ่าน ช่วงนั้นกลุ่มพวกเรากำลังเรียนปริญญาโท ที่ มศว มหาสารคาม(มหาวิทยาลัยมหาสารคามปัจจุบัน) โดยมีอาจารย์ธัญญา สังขพันธานนท์ เป็นผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง
สมาชิกกลุ่มวรรณกรรมป่งใบในยุคนั้นมีใครบ้าง
สมาชิกตอนนั้นมีทั้งนิสิตปริญญาตรี ปริญญาโท ที่สนใจงานด้าน วรรณกรรม ประกอบด้วย ราชบดินทร์ ประกายธรรม ทัศนาวดี สว่าง ไชยสงค์ สุขมพจน์ คำสุขุม ธนสาร บัลลังค์ปัทมา สุรเดช จันทร์สม วีรชัย แสงฉายา เกื้อกูล ขวัญทอง สุทัศน์ สังข์สนิท บุญยิ่ง เคยพุดชา โพไซ สุนทะลาด(นิสิตปริญญาโท ไทยคดีจากลาว) รวมทั้ง ชัชวาลย์ โคตรสงคราม ซึ่งเรียนอยู่ที่วิทยาลัยมหาสารคามในขณะนั้นก็ไปมาหาสู่กันประจำในฐานะผู้สนใจงานวรรณกรรม
( http://www.oknation.net/blog/numsunjon/2007/12/05/entry-3 - เจนอักษราพิจารณ์ )

ย้อนรอยกลุ่มวรรณกรรมป่งใบ
ย้อนรอยกลุ่มวรรณกรรมป่งใบมาถึงตอนสุดท้าย ว่าด้วยสมาชิกในกลุ่มว่ามีใครบ้าง อย่างไรก็ตามหากมีท่านผู้รู้หรือสมาชิกในกลุ่มจะแลกเปลี่ยนหรือเพิ่มเติมข้อมูลก็เชิญร่วมสร้างสรรค์วงวรรณกรรมให้เผยแพร่สู่สาธารณชนต่อไป สำหรับผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้กลุ่มวรรณกรรมป่งใบเริ่มแตกก้าน กิ่งใบ และจุดประกายวรรณกรรม สำหรับสมาชิกในกลุ่มคืออาจารย์ธัญญา สังขพันธานนท์ ผู้สอนวิชาวรรณกรรมทั้งในและนอกชั้นเรียน สร้างลูกศิษย์สู่วงวรรณกรรมมาหลายยุค บุคคลต่อมาคือครูใหญ่สุรพงษ์ จังหาร เจ้าของนามปากกา คำผา เพลงพิณ พี่เอื้อยใหญ่ของกลุ่ม อดีตนิสิตปริญญาโทเอกภาษาไทย แต่เสียดายมาด่วนเสียชีวิตก่อนที่จะเห็นความสำเร็จของน้อง ๆ ในกลุ่ม ขอคารวะพี่ใหญ่มา ณ โอกาสนี้ ส่วนสมาชิกในกลุ่มที่มีผลงานปรากฏมีหลายคนดังนี้
วิสัย สมประสงค์ มือกวีกวีจากลุ่มน้ำโขงจากของนามปากกาอณูทิพย์ ธารทอง มีผลงานตีพิมพ์มากที่สุดของกลุ่ม ปัจจุบันรับราชการครูอยู่ที่ จังหวัดมุกดาหาร
สุริยา ธรรมราช จากลุ่มน้ำพองขอนแก่น เจ้าของนามปากกา ราชบดินทร์ ประกายธรรม เถิกผู้ ฮานคันแท เขียนทั้งเรื่องสั้น และบทกวี มีผลงานเป็นระยะ
สุทัศน์ วงศ์กระบากถาวร เจ้าของนามปากกาทัศนาวดี ลายวลี คำวิไล นามปากกาเหมือนสุภาพสตรี แต่ลีลาดุเด็ดเผ็ดมันอย่าบอกใคร ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร สอนวิชาวรรณกรรมในระดับปริญญาตรี เคยเดินทางไปสอนภาษาไทยทั้งที่อเมริกา และฮานอย มีผลงานรวมเล่ม คือ ในโลกแคบ ความลับที่ซาปา โลกใบเก่ายังเศร้าเหมือนเดิมและนางฟ้าในดวงจันทร์ รวมทั้งเรื่องสั้นรางวัลยอดเยี่ยมนายอินทร์วอร์ด ปี 2550 จากเรื่อง สมภาร ระดับ 8
สุขุม ภูคำอ่อน เจ้าของนามปากกา สุขมพจน์ คำสุขุม ปัจจุบันสอนอยู่ที่จังหวัดมหาสารคาม มีผลงานกวีนิพนธ์รวมเล่ม คือ สายรุ้งของความรัก เสียงที่ไม่เคยเปลี่ยน และอกข้างซ้าย มีรางวัลด้านกวีนิพนธ์ระดับประเทศหลายรางวัล ในอดีตเคยดำรงตำแหน่งประธานสโมสรนักเขียนภาคอีสาน
สว่าง ไชยสงค์ เจ้าของนามปากกา คำบางบุตร ไชยสงค์ รับราชการครูที่จังหวัดกาฬสินธุ์ มีผลงานเรื่องสั้น บทกวี ในยุคกลุ่มวรรณกรรมป่งใบ เน้นเรื่องสังคมชนบท เสียดสีการเมือง
ธนสาร บัลลังค์ปัทมา เจ้าของนามปากกา สาคร สารคาม ธนปัทม์ ธนาพร อดีตนิสิตคณะมนุษยศาสตร์ วิชาเอกภาษาไทย ลูกศิษย์อาจารย์ไพฑูรย์ ธัญญา
ส่วนน้องหน่อย สุมาลี โพธิ์พยัคฆ์ เคยร่วมงานกับสมาชิกกลุ่มป่งใบ เมื่อครั้งทำกิจกรรมชุมนุมวรรณศิลป์ของ มมส.เป็นคนขยันส่งจดหมายข่าวสโมสร นักเขียนภาคอีสานแจกจ่ายพรรคพวกพี่น้องในกลุ่ม ปัจจุบันได้รับเลือกให้เป็นประธานสโมสนักเขียนภาคอีสานคนปัจจุบัน ต่อจากไชยา วรรณศรี พร้อมนั่งปั่น ข่าวส่งส่วนกลางอย่างเร็วพลัน
เป็นบทส่งท้ายสำหรับย้อนรอยกลุ่มวรรณกรรมป่งใบ ท่านผู้อ่านมีเรื่องราวเพิ่มเติม หรือรายชื่อตกหล่น หรือร่ว มแลกเปลี่ยน เชิญครับเวทีนี้เป็นของทุกท่านแล้ว
( http://www.oknation.net/blog/numsunjon/2007/12/05/entry-3 - เจนอักษราพิจารณ์ )

คำขอขมาและอธิษฐานจิต


ขอขมาและอธิษฐานจิต อธิษฐานหน้าพระพุทธรูป หรือสวดก่อนนอนก็ได้
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ 3 จบ)
สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะเม ภันเต อุกาสะ ทะวารัตตะเยนะ กะตัง สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะเม ภันเต อุกาสะ ขะมามิ ภันเต
หากข้าพเจ้า จงใจหรือประมาทพลาดพลั้ง ล่วงเกิน บิดา-มารดา ครูบาอาจารย์ พระพุทธ พระธรรม พระอรหันต์ทุกพระองค์ พระอริยสงฆ์เจ้า ตลอดจนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย รวมถึงผู้มีพระคุณ และท่านเจ้ากรรมนายเวร จะด้วย กาย วาจา ใจ ก็ดี ขอได้โปรดอโหสิกรรมแก่ข้าพเจ้าด้วย หากข้าพเจ้ามีเจ้าของในตัวติดตามมา ขออนุญาตมีคู่ มีครอบครัวได้เหมือนคนปกติทั่วไป ขอถอนคำอธิษฐาน คำสาบานที่จะติดตามคู่ในอดีต ขอให้ต่างฝ่ายต่างเป็นอิสระต่อกัน ข้าพเจ้าจะประพฤติตนในทางที่ถูก ที่ชอบ ที่ควร ขอบุญบารมี ในอดีตกาลที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน จงส่งผลให้ข้าพเจ้าและครอบครัว ตลอดจนบริวารที่เกี่ยวข้อง จงเจริญด้วย อายุ วรรณะ สุขะ พละ ลาภ ยศ สุข สรรเสริญ สติปัญญา ปฏิภาณ ธนสารสมบัติ อุปสรรคใดๆ โรคภัย ใดๆ ขอให้มลายสิ้นไป ขอให้ข้าพเจ้ามีความสว่างทั้งทางโลก ทางธรรมตั้งแต่บัดนี้ตราบเข้าสู่พระนิพพานเทอญ หากมีผู้ใดเคยสร้างเวรสร้างกรรมกับข้าพเจ้า ไม่ว่าจะชาติใดภพใดก็ตาม ข้าพเจ้ายินดีอโหสิกรรมให้ ขอถอนความพยาบาท ความอาฆาต และคำสาปแช่งในทุกชาติ ทุกภพ ขอให้ข้าพเจ้าพ้นจากคำสาปแช่งของปวงชน ของเจ้ากรรมนายเวร ขอให้พ้นนรกภูมิ พบแสงสว่างทั้งทางโลกทางธรรมเทอญ คนเราเกิดมาหลายภพหลายชาติ แต่ละคนมีเจ้ากรรมนายเวรที่แตกต่างกัน การสวดขอขมาเพื่อลดและปลดหนี้กรรมให้น้อยลง

ถามตอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550


รัฐธรรมนูญเเห่งราชอาณาจักรไทย 2550

หมวดที่ 1 บททั่วไป
1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ที่ใช้อยู่ปัจจุบันเป็นรัฐธรรมนูญฉบบที่เท่าใด
ตอบ 18
2. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ได้มีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อใด
ตอบ วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2550
3. รัธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ประกอบด้วยกี่หมวด กี่มาตราฃ
ตอบ 15 หมวด 309 มาตรา
4. บุคคลใดเป็นผู้สนองพรบรมราชโองการในการตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550
ตอบ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ในฐานะประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
5. รัฐธรรมนูญที่จัดทำใหม่นี้ มีหลักการสำคัญอย่างไร
ตอบ ส่ง เสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้เป็นประจักษ์ชัดเจนยิ่งขึ้น สนับสนุนให้ประชาชนมีบทบาทและส่วนร่วมในการปกครองและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ อย่างเป็นรูปธรรม กำหนดกลไกสถาบันทางการเมือง ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ให้มีดุลยภาพและประสิทธิภาพตามวิถีการปกครองแบบรัฐสภา สร้างเสริมสถาบันศาลและองค์กรอิสระอื่นให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดย สุจริตเที่ยงธรรม และเหนือสิ่งอื่นใด คือ การเน้นย้ำคุณค่าและความสำคัญของคุณธรรม จริยธรรม และธรรมมาภิบาลอันเป็นหลักจรรโลงชาติ
6. การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานของรัฐ ต้องเป็นไปตามหลักการใด
ตอบ หลักนิติธรรม
7. หากไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใดได้ ให้วินิจฉัยกรณีนั้นเป็นไปโดยใช้หลักการใด
ตอบประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
หมวด 2 พระมหากษัตริย์
8. พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจอธิปไตยผ่านองค์กรใดบ้าง
ตอบ รัฐสภา (นิติบัญญัติ) คณะรัฐมนตรี (บริหาร) และศาล (ตุลาการ)
9. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 กล่าวถึงที่มาของอำนาจอธิปไตยไว้อย่างไร
ตอบ อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย
10. องคมนตรีที่พระมหากษัตริย์ทรงเลือกและแต่งตั้งมีจำนวนทั้งสิ้นกี่คน
ตอบ ประธานองคมนตรี 1 คน และองคมนตรีอื่นอีกไม่เกิน 18 คน (รวมกันทั้งหมดไม่เกิน 19 คน)
11. บุคคลใดเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานองคมนตรีหรือให้ประธานองคมนตรีพ้นจากตำแหน่ง
ตอบ ประธานรัฐสภา (มีข้อสังเกตว่าตำแหน่งประธานรัฐสภา เป็นตำแหน่งทางด้านนิติบัญญัติดังนั้นการดำเนินการ
12. บุคคลใดเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งองคมนตรีอื่น หรือให้องคมนตรีอื่นพ้นจากตำแหน่ง
ตอบ ประธานองคมนตรี
13. บุคคลที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นองคมนตรีต้องมีคุณสมบัติอย่างไร
ตอบ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่พระมหากษัตริย์ทรงเลือกและแต่งตั้งตามพระราช อัธยาศัย ซึ่งบุคคลดังกล่าวต้องไม่เป็นเป็นผู้ดำรงตำแหน่งดังนี้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลปกครอง กรรมการป้องและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งเงินเดือนประจำ พนักงานรัฐวิสาหกิจ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ หรือสมาชิกหรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง และต้องไม่แสดงการฝักใฝ่พรรคการเมืองใด ๆ

14. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 บัญญัติพระมหากษัตริย์นอกจากจะทรงอยู่ในฐานะองค์พระประมุขแล้ว ยังทรงเป็นอะไรอีกบ้าง
ตอบ ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย ทรงเป็นพระพุทธมามกะและทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก
15. ในเมื่อพระมหากษัตริย์ไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม จะได้ทรงแต่งตั้งผู้หนึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และให้ใครเป็นผู้ลง นามรับสนองพระบรมราชโองการ
ตอบ ประธานรัฐสภา
16. ในกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หรือในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่สามารถแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพราะยังไม่บรรลุนิติภาวะหรือเพราะเหตุอื่น จะต้องดำเนินการอย่างไร
ตอบ ให้องคมนตรีเสนอชื่อผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งสมควรดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จ ราชการแทนพระองค์ต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ประธานรัฐสภาประกาศในปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ แต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
์17. ในหมวด 2 ที่เกี่วข้องกับการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระมหากษัตริย์ หรือการอัญเชิญองค์ผู้สืบราชสันตติวงศ์ขึ้นครองราชย์ ในกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุหรือถูกยุบ ให้องค์กรใดทำหน้าที่แทน
ตอบ วุฒิสภา
หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย
18. การใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กร ต้องคำนึงถึงสิ่งใดบ้าง
ตอบ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพ
19. สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มีอะไรบ้าง
ตอบ 1. สิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคล
2. สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
3. สิทธิในทรัพย์สิน
4. สิทธิและเสรีภาพในการประกอบอาชีพ
5. เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน
6 สิทธิและเสรีภาพในการศึกษา$ K# {8 K+ D' ^3 v
7. สิทธิและเสรีภาพในการได้รับบริการสาธารณสุขจากสวัสดิการจากรัฐ) f% u& c$ U! f7 N
8. สิทธิในข้อมูลข่าวสารและการร้องเรียน
9. เสรีภาในการชุมนุมและสมาคม
10. สิทธิพิทักรัฐธรรมนูญ
20. บุคคลมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายอย่างไร ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
ตอบ 1. การทรมาน ทารุณกรรม หรือการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรม จะกระทำมิได้
2. การลงโทษตามคำพิพากษาของศาลหรือตามที่กฎหมายบัญญัติไม่ถือว่าเป็นการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้ มนุษยธรรม
3. การค้นตัวบุคคลหรือการกระทำใดอันกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีเหตุตามที่กฎหมายกำหนด

21. บุคคลมีสิทธิในกระบวนการยุติธรรมอย่างไร ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
ตอบ 1.บุคคลไม่ต้องรับโทษอาญา เว้นแต่ได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิด- 2. โทษที่จะลงแก่บุคคลนั้นหนักกว่าโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำความผิด มิได้
3. ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด
4. ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่าบุคคลได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้

22. บุคคลมีสิทธิในกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ชั้นสอบสวน ขั้นฟ้องร้อง และชั้นพิจารณาอย่างไร
ตอบ 1. สิทธิเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยง่าย สะดวก รวดเร็ว และทั่วถึง
2. สิทธิพื้นฐานในกระบวนการพิจารณา ซึ่งอย่างน้อยต้องมีหลักประกันขั้นพื้นฐานเรื่อง การได้รับการพิจารณาโดยเปิดเผย การได้ทราบข้อเท็จจริงและตรวจเอกสารอย่างพอเพียง การเสนอข้อเท็จจริง ข้อโต้แย้ง และพยานหลักฐานของตน การคัดค้านผู้พิพากษาหรือตุลาการ การได้รับพิจารณาโดยผู้พิพากษาหรือตุลาการที่นั่งพิจารณาคดีครบองค์คณะ และการได้ทราบเหตุผล ประกอบคำวินัจฉัย คำพิพากษา หรือคำสั่ง
3. ในคดีอาญา ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีสิทธิได้รับการสอบสวนหรือการพิจารณาคดีที่ถูกต้องรวด เร็ว และเป็นธรรม มีโอกาสในการต่อสู้คดีอย่างเพียงพอ การตอบสนองหรือได้รับทราบพยานหลักฐานตามสมควร การได้รับความช่วยเหลือในทางคดีจากทนายความ และการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว
4. ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา จำเลย และพยานคดีอาญา มีสิทธิได้รับความคุ้มครอง และความช่วยเหลือที่จำเป็นเหมาะสมจากรัฐ
23. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาไม่น้อยกว่ากี่ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย
ตอบ 12 ปี
24.ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 บุคคลอายุเริ่มตั้งแต่เท่ามีสิทธิได้รับสวัสดิการ สิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะอย่างสมศักดิ์ศรี และความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐ
ตอบ อายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ
25. ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 บุคคลใดมีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่ เสียค่าใช้จ่าย
ตอบ ผู้ยากไร้
26. ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิทธิและเสรีภาพในการประกอบอาชีพ การจำกัดเสรีภาพจะกระทำมิได้ เว้นแต่กรณีใดบ้าง
ตอบ กรณีที่เป็นประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐหรือเศรษฐกิจของประเทศ การคุ้มครองประชาชนในด้านสาธารณูปโภค การรักษาความเรียบร้อยทางศีลธรรมอันดีของประชาชนการจัดระเบียบการประกอบ อาชีพ การคุ้มครองผู้บริโภค การผังเมือง การรักษาทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม สวัสดิภาพของประชาชน หรือเพื่อป้องกันการผูกขาดหรือขจัดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน
27.บุคคลผู้เป็นทหาร ตำรวจ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ และพนักงานหรือลูกจ้างองค์กรของรัฐ ย่อมมีสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไปเว้นแต่จะมีการ จำกัดในเรื่องใด
ตอบ จำกัดไว้ในกฎหมายหรือที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องการเมือง สมรรถภาพ วินัย หรือจริยธรรม
28.บุคคล ย่อมมีสิทธิได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น เว้นแต่จะถูกจำกัดในกรณีใดบ้าง
ตอบ การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั้นจะกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประชาชน ส่วนได้เสียอันได้รับความคุ้มครองของบุคคลอื่นหรือเป็นข้อมูลส่วนบุคคล
29. กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองอันเนื่องมาจากการกระทำความ ผิดเกี่ยวกับสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารของพรรค การเมืองที่ถูกยุบในขณะที่กระทำความผิดเป็นระยะเวลาเท่าใด
ตอบ 5 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งดังกล่าว

หมวด 4 หน้าที่ของชนชาวไทย

30.ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 บุคคลมีหน้าที่อะไรบ้าง
ตอบ 1 . หน้าที่รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขตามรัฐธรรม นุญนี้
2. หน้าที่ป้องกันประเทศ รักษาผลประโยชน์ของชาติ และปฏิบัติตามกฎหมาย
3. หน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
4. หน้าที่รับราชการทหาร ช่วยเหลือในการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติสาธารณะ เสียภาษีอากร ช่วยเหลือราชการ รับการศึกษาอบรม พิทักษ์ ปกป้อง และสืบสานศิลปวัฒนธรรมของชาติและภูมิปัญญาท้องถิ่น และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ

31. บุคคลผู้เป็นข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐวิสาหกิจ หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ มีหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายเพื่อรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมอำนวย ความสะดวก และให้บริการแก่ประชาชนโดยอาศัยหลักการในการปฏิบัติหน้าที่
ตอบ หลักธรรมมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (ข้อสอบถามถึงองค์ประกอบของหลักธรรมมาภิบาลว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งได้แก่ หลักนิติธรรม หลักคุณธรรม หลักความโปร่งใส ตรวจสอบได้ หลักการมีส่วนร่วม หลักความรับผิดชอบ และหลักความคุ้มค่า
ระวัง ! อย่าสับสนกันเรื่องพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการ บ้านเมืองที่ดี ได้แก่การบริหารเพื่อบรรลุเป้าหมายดังต่อไปนี้
(1) เกิดประโยชน์สุขของประชาชน
(2) เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ
(3) มีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่าในเชิงภารกิจของรัฐ
(4) ไม่มีขั้นตอนการปฏิบัติงานเกินความจำเป็น
(5) มีการปรับปรุงภารกิจของส่วนราชการให้ทันต่อสถานการณ์
(6) ประชาชนได้รับความอำนวยสะดวกและได้รับการตอบสนองความต้องการ
(7) มีการประเมินผลการปฏิบัติราชการอย่างสม่ำเสมอ

หมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ
32. คณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องชี้แจงต่อรัฐสภาให้ชัดแจ้งว่า จะดำเนินการใด ในระยะเวลาใด เพื่อบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ และต้องจัดทำรายงานแสดงผลการดำเนินการ รวมทั้งปัญหาและอุปสรรคต่อรัฐสภาปีละกี่ครั้ง
ตอบ ปีละ 1 ครั้ง
33. คณะรัฐมนตรีจัดทำแผนบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อแสดงมาตรการและรายละเอียดแนวทางในการปฏิบัติราชการในแต่ละปีของการ บริหารราชการแผ่นดินซึ่งจะต้องสอดคล้องกับเรื่องใด
ตอบ แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ
34. แนวนโยบายแห่งรัฐประกอบด้วยเรื่องใดบ้าง
ตอบ 1. แนวนโยบายด้านความมั่นคงของรัฐ
2. แนวนโยบายด้านการบริหารราชการแผ่นดิน
3. แนวนโยบายด้านศาสนา สังคม การสาธารณสุข การศึกษา และวัฒนธรรม
4. แนวนโยบายด้านกฎหมายและการยุติธรรม
5. แนวนโยบายด้านการต่างประเทศ
6. แนวนโยบายด้านเศรษฐกิจ
7. แนวนโยบายด้านที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
8. แนวนโยบายดานวิทยาศาสตร์ ทรัพย์สินทางปัญญาและพลังงาน
9. แนวนโยบายด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน
35.ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินอย่างไร
ตอบ (1) บริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปเพื่อการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศอย่างยั่งยืน โดยต้องส่งสริมการดำเนินการตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและคำนึงถึงผลประโยชน์ ของประเทศชาติในภาพรวมเป็นสำคัญ
(2) จัดระบบบริหารราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ให้มีขอบเขต อำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบที่ชัดเจนเหมาะสมแก่การพัฒนาประเทศ สนับสนุนให้จังหวัดมีแผนและงบปนะมาณเพื่อพัฒนาจังหวัด เพื่อประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่
(3) กระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพึ่งตนเองและตัดสินใจในกิจการ ของท้องถิ่นได้เอง ส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ พัฒนาเศรษฐกิจของท้องถิ่นและระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ตลอดทั้งโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศในท้องถิ่น ให้ทั่วถึงและเท่าเทียมกันทั่วประเทศ รวมทั้งพัฒนาจังหวัดที่มีความพร้อมให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในจังหวัดนั้น'
(4) พัฒนาระบบงานภาครัฐ โดยมุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพ คุณธรรมและจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ควบคู่ไปกับการปรับปรุงรูปแบบและวิธีการทำงาน เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมให้หน่วยงานของรัฐใช้หลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีเป็นแนว ทางในการปฏิบัติราชการ
(5) จัดระบบงานราชการและงานของรัฐอย่างอื่น เพื่อให้การจัดทำและการบริการสาธารณะเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้ โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน
(6) ดำเนินการให้หน่วยงานทางกฎหมายที่มีหน้าที่ให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับ การดำเนินงานของรัฐตามกฎหมายของรัฐ ดำเนินการอย่างเป็นอิสระ เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม
(7) จัดให้มีแผนพัฒนาการเมือง รวมทั้งจัดให้มีสภาพัฒนาการเมืองที่มีความเป็นอิสระเพื่อติดตามสอดส่องให้ มีการปฏิบัติตามแผนดังกล่าวอย่างเคร่งครัด
(8) ดำเนินการให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐได้รับสิทธิประโยชน์อย่าง เหมาะสมการจัดทำและการให้บริการสาธารณะเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้

หมวด 6 รัฐสภา (มีข้อสังเกตว่าเป็นหมวดที่มีการนำเนื้อหามาออกข้อสอบมากกว่า หมวดอื่น ๆ และมักจะมีการถามลวงในเรื่องขอตัวเลขเป็นประจำ36. รัฐสภาประกอบด้วยองค์กรใดบ้าง
ตอบ สภาผู้แทนราษฎร (ปัจจุบัน คือ นายชัย ชิดชอบ)
38. บุคคลใดดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานรัฐสภา
ตอบ ประธานวุฒิสภา (ปัจจุบัน คือ นายประสพสุข บุญเดช)
39. ในกรณีที่ไม่มีประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือประธานสภาผู้แทนราษฎรไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่แทนประธาน รัฐสภาได้ ใครทำหน้าที่ประธานรัฐสภาแทน
ตอบ ประธานวุฒิสภา
40. ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและร่างพระราชบัญญัติจะตราขึ้นเป็นกฎหมายได้แต่โดยคำ แนะนำ และยินยอมของใคร
ตอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร
41. สภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วยสมาชิกจำนวนกี่คน
ตอบ 480 คน (มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต 400 คน และแบบสัดส่วน 80 คน ซึ่งมาจากการจัดแบ่งพื้นที่เลือกตั้งออกเป็น 8 กลุ่มจังหวัดละ 10 คน )
42. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาจำนวนเท่าใดของจำนวนสมาชิกทั้งหมด เท่าที่มีอยู่แต่ละสภา มีสิทธิเข้าชื่อร้องต่อประธานรแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกว่าสมาชิกภาพของ สมาชิกคนใดคนหนึ่งแห่งสภานั้นสิ้นสุดลง
ตอบ ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10
43. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยวิธีใด
ตอบ เลือกตั้งโดยตรงและลับ
44. ในกรณีที่มีเหตุการณ์ใด ๆ ทำให้การเลือกตั้งทั่วไปครั้งใดมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ถึง 480 คน แต่มีจำนวนร้อยละเท่าใดของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด ให้ถือว่าสมาชิกจำนวนนั้นประกอบเป็นสภาผู้แทนราษฎร
ตอบ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของจำนวน ส.ส. ทั้งหมด (ข้อสอบอาจถามจำนวนคน ต้องตอบว่าไม่น้อยกว่า 456 คน)
45. การคำนวณจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะพึงมีได้ในแต่ละเขตเลือกตั้งและการกำหนดเขตเลือกตั้ง มีวิธีการอย่างไร
ตอบ 1. ให้คำนวณเกณฑ์จำนวนต่อสมาชิก 1 คน โดยคำนวณจำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุด ท้ายก่อนที่มีการเลือกตั้ง เฉลี่ยด้วยจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 400 คน
2. จังหวัดใดมีราษฎรไม่ถึงเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อสมาชิก 1 คน ให้จังหวัดนั้นมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ 1 คน
3. จังหวัดใดมีราษฎรเกินเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อสมาชิก 1 คนให้จังหวัดนั้น ให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพิ่มขึ้นอีก 1 คนทุกจำนวนราษฎรที่ถึงเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อสมาชิก 1 คน
4. การกำหนดเขตเลือกตั้งให้ดำเนินการโดยจังหวัดใดมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้ไม่เกิน 3 คนให้แบ่งเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง แต่ถ้าจังหวัดใดมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เกิน 3 คน ให้แบ่งเขตจังหวัดออกเป็นเขตเลือกตั้ง โดยจัดให้แต่ละเขตเลือกตั้งมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 3 คน
46. บุคคลที่มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง
ตอบ 1. มีสัญชาติไทย แต่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ ต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
2. มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 1 มกราคมของปีที่มีการเลือกตั้ง
3. มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 90 วันนับถึงวันเลือกตั้ง
4. กรณีที่มีถิ่นอยู่นอกราชอาณาจักรย่อมมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งวุฒิสภา
47. บุคคลประเภทใดบ้างที่มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง
ตอบ (1) เป็นภิกษุสามเณร นักพรต หรือนักบวช
(2) อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
(3) ต้องคุมขังโดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
(4) วิกลจริต หรือจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
48. ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะต้องมีคุณสมบัติอย่างไร
ตอบ (1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
(2) มีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง
(3) เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคเดียวเป็นเวลา ติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วันนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในกรณีที่มีการเลือกตั้งโดยทั่วไปเพราะเหตุยุบสภา ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคเดียวเป็นเวลาติดต่อ กันไม่น้อยกว่า 30 วันนับถึงวันเลือกตั้ง
(4) ผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ด้วย
(ก) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลา ติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปีนับถึงวันรับสมัครเลือกตั้ง
(ข) เป็นบุคคลซึ่งเกิดในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง
(ค) เคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่รับสมัครเลือกตั้งเป็น เวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปีการศึกษา
(ง) เคยรับราชการหรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับ เลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี
. M, y6 T' J* ? (5) ผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบสัดส่วนต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งตาม (4) ด้วย แต่ลักษณะดังกล่าวในกรณีใดที่กำหนดถึงจังหวัด ให้หมายถึงกลุ่มจังหวัด7
(6) คุณสมบัติอื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่า ด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งวุฒิสภา
49. อายุของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีกำหนดคราวละกี่ปีนับแต่วันเลือกตั้ง
ตอบ 4 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง (และสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็เริ่มตั้งแต่วันเลือกตั้งเช่นกัน)
50. สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง เมื่อพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิกมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าเท่าใดของ ที่ประชุมร่วมของคณะกรรมการบริหารของพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิกมีมติด้วย คะแนนเสียงไม่น้อยกว่าเท่าใดของที่ประชุมร่วมของคณะกรรมการบริหารของพรรค การเมืองและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคการเมืองนั้น ให้พ้นจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิก
ตอบ ไม่น้อยกว่า 3 ใน 46
51. สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง เนื่องจากขาดประชุมเกินจำนวนเท่าใดของจำนวนวันประชุมที่มีกำหนดเวลาไม่น้อย กว่า 120 วัน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากประธานสภาผู้แทนราษฎร
ตอบ เกินกว่า 1 ใน 4
52. เมื่ออายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง พระมหากษัตริย์จะได้ทรงตราพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน ราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งต้องกำหนดวันเลือกตั้งภายในกี่วันนับแต่วันที่อายุของสภาผู้แทนราษฎร สิ้นสุดลง
ตอบ 45 วัน
53. การยุบสภาผู้แทนราษฎรให้กระทำโดยการตรากฎหมายใด
ตอบ พระราชกฤษฎีกา (มีข้อสังเกตว่าการดำเนินการเกี่ยวกับกิจการสภา ไม่ว่าจะเป็นการประกาศให้มีการเลือกตั้ง การเปิด-ปิดสมัยประชุมสภา หรือการใด ๆ ที่เกี่ยวกับการประชุมสภาให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกาด้วยเช่นกัน)

54. การยุบสภาผู้แทนราษฎรให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา ซึ่งต้องกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ เป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายในระยะเวลาเท่าใด นับแต่วันยุบสภาผู้แทนราษฎรและวันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดเป็นวันเดียวกัน ทั่วราชอาณาจักร
ตอบ ไม่น้อยกว่า 4 5วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน
55. พรรคการเมืองที่มีสมาชิกในสังกัดมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี แต่ไม่น้อยกว่าจำนวนเท่าใดของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทน ราษฎรในขณะแต่งตั้ง เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
ตอบ ไม่น้อยกว่า 1 ใน 56
56. บุคคลใดเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้าน
ตอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร
57. วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวนรวมทั้งสิ้นกี่คน
ตอบ 150 คน (มาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน รวมเป็น 76 คน มาจากการสรรหา 74 คน)
58. คณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาคณะหนึ่ง ประกอบด้วยบุคคลใดบ้าง
ตอบ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานกรรมการเลือกตั้ง ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาที่ที่ ประชุมใหญ่ศาลฎีกามอบหมายจำนวนหนึ่งคนและตุลาการในศาลปกครองสูงสุดที่ที่ ประชุมใหญ่ศาลฎีกา มอบหมายจำนวนหนึ่งคนและตุลาการในศาลปกครองสูงสุดที่ที่ประชุมใหญ่ตุลาการใน ศาลปกครองสูงสุดมอบหมายจำนวน 1 คน เป็นกรรมการ
59. คุณสมับติของผํมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งได้รับการเสนอชื่อเพื่อเข้ารับการ สรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภาเรื่องใดที่มีความแตกต่างไปจากข้อกำหนดเรื่อง คุณสมบัติของผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ตอบ มีอายุไม่ต่ำกว่า 45 ปี จบการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี และต้องไม่เป็นบุพการีคู่สมรส หรือบุตรของผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการ เมือง (ข้อสังเกตว่าข้อสอบมักจะถามในประเด็นเรื่องอายุ ดัวนั้นจึงควรที่จะรู้ว่าตำแหน่งต้องมีอายุเท่าใด เช่น ส.ส. ต้องไม่ต่ำกว่า 25 ปี / รัฐมนตรีต้องไม่ต่ำกว่า 35 ปี / ส.ว. ต้องไม่ต่ำกว่า 40 ปี)
60. ให้สมาชิกวุฒิสภาเข้ามาแทนตำแหน่งที่ว่างนั้น อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าวารที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน เว้นแต่วาระของสมาชิกวุฒิสภาที่ว่างลงจะเหลือไม่ถึงกี่วัน จะไม่ดำเนินการเลือกตั้งหรือการสรรหาก็ได้
ตอบ 180 วัน
61. การประชุมสภาผู้แทนราษฎรและการประชุมวุฒิสภาต้องมีสมาชิกมาประชมไม่น้อย กว่าเท่าใด ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา จึงเป็นองค์ประชุม
ตอบ ไม่น้อยกว่า 1 ใน 4
62. ภายในกี่วันนับแต่งวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก
ตอบ 30 วัน
63. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มีทั้งสิ้น 9 ฉบับ ได้แก่อะไรบ้าง
ตอบ (1) พระราชกฤษฎีกาประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
(2) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง
(3) พระราชบัญญัติว่าด้วยรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
(4) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยเสียงประชามติ
(5) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
(6) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
(7) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน
(8) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
(9) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน

64. ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบด้วยรัฐธรรมนูญของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิ สภาให้กระทำเป็นกี่วาระ
ตอบ 3 วาระ (วาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ วาระที่สองขั้นพิจารณาเรียงลำดับตามมาตรา และวาระที่สามขั้นลงมติโดยออกเสียงลงคะแนน ด้วยวิธีการเรียกชื่อลงและลงคะแนนโดยเปิดเผยr
65. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่ากี่คน ที่จะเสนอร่างพระราชบัญญัติได้
ตอบ ไม่น้อยกว่า 20 คน (นอกจากนี้คณะรัฐมนตรี / ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 คนเข้าชื่อเสนอกฎหมาย / ศาลหรือองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เฉพาะกฎหมายที่ เกี่ยวกับการจัดองค์กรและกฎหมายที่ประธานศาลและประธานองค์กรนั้นเป็นผู้ รักษาการ ก็สามารถเสนอร่าง พ.ร.บ. ได้เช่นกัน)
66. สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่เสนอและลงมติเห็นชอบแล้ว ให้สภาผู้แทนราษฎรเสนอร่างพระราชบัญญัตินั้นต่อวุฒิสภา ถ้าร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นร่างพระราชบัญญัติที่เสนอและลงมติเห็นชอบแล้ว ให้สภาผู้แทนราษฎรเสนอร่างพระราชบัญญัตินั้นต่อวุฒิสภา ถ้าร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน ต้องพิจารณาให้เสร็จภายในกี่วัน
ตอบ 30 วัน (ระวังอย่าสับสนกับเรื่องของ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม และร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณราบจ่าย สภาผู้แทนราษฎรต้องวิเคราะห์และพิจารณาให้แล้วเสร็จ ภายใน 105 วัน นับแต่วันที่ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมาถึงสภาผู้แทนราษฎร)
67. การถามและการตอบกระทู้เรื่องการบริหาราชการแผ่นดินเรื่องใดเป็นปัญหาสำคัญ ที่อยู่ในความสนใจของประชาชนให้กระทำสัปดาห์ละกี่ครั้ง
ตอบ สัปดาห์ละ 1 ครั้ง (โดยให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้นตั้งกระทู้ถามด้วยวาจา เรื่องการบริหารราชการแผ่นดินนั้นได้เรื่องละไม่เกิน 3 ครั้ง)

68. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าเท่าใดของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่ มีอยู่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัติติเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายก รัฐมนตรี
ตอบ ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 (กรณีไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีรายบุคคลต้องไม่น้อยกว่า 1 ใน 6)
69. สามาชิกวุฒิสภาไม่น้อยกว่าจำนวนเท่าไร มีสิทธิเข้าเสนอชื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภาเพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลง ข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มี การลงมติ
ตอบ ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3
หมวด 7 การมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชน

70. ประชาชน ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่ากี่คน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาร่างพระราช บัญญัติตามที่กำหนดในหวมด ๓ และหมวด ๕ แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
ตอบ ไม่น้อยกว่า 10,000 คน

71. ประชาชน ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่ากี่คน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภาเพื่อให้วุฒิสภามีมติถอดถอนผู้ดำรง ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิก สมาชิกวุฒิสภา ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด หรืออัยการสูงสุด ซึ่งมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติหรือส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่
ตอบ ไม่น้อยกส่า 20,0000 คน

หมวด 8 การเงิน การคลัง และงบประมาณ
72. งบประมาณรายจ่ายแผ่นดินให้ตราเป็นกฎหมายชนิดใด
ตอบ พระ ราชบัญญัติ (ทั้งนี้ หากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณออกไม่ทันปีงบประมาณใหม่ ก็ให้ใช้กฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณก่อนนั้นพลางไปก่อน)
หมวด 9 คณะรัฐมนตรี
73. พระ มหากษัตริย์แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกินกี่คน ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน
ตอบ ไม่เกิน 35 คน (แสดงว่า ครม. มีทั้งสิ้นไม่เกิน 36 คน)
74. ใครเป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี
ตอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร
75. นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินกว่ากี่ปีมิได้
ตอบ 8 ปี ติดต่อกัน
76. คณะ รัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาและชี้แจงการ ดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ โดยไม่มีการลงมติความไว้วางใจทั้งนี้ ภายในกี่วันนับแต่วันที่เข้ารับหน้าที่
ตอบ 15 วัน
77. หาก เกิดกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบอันด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ หรือในกรณีเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศความปลอดภัย สาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ คณะรัฐมนตรีจะต้องออกกฎหมายประเภทใดเพื่อที่จะจัดการกับเหตุฉุกเฉินดังกล่าว
ตอบ พระ ราชกำหนด (ข้อสังเกต ข้อสอบอาจถามเรื่องลำดับชั้นของกฎหมาย ดังนั้นผู้เข้าสอบจึงควรต้องเรียงลำดับชั้นกฎหมายได้อย่างถูกต้องจากกฎหมาย แม่บทไปกฎหมายระดับรอง ได้แก่ รัฐธรรมนูญ/ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ / พระราชบัญญัติหรือประมวลกฎหมาย / พระราชกำหนด / พระราชกฤษฎีกา / กฎกระทรวง / ประกาศคณะปฏิวัติ / กฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น)
78. เมื่อ ประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก เห็นว่าพระราชกำหนดนั้น ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศความปลอดภัย สาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ทำเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ และให้ประธานสภาแห่งนั้นส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญภายในกี่วันนับแต่ วันที่ได้รับความเห็นเพื่อวินิจฉัย
ตอบ ภาย ใน 30 วัน (โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 จึง จะถือว่าพระราชกำหนดนั้นไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กล่าวอ้าง)


หมวด 10 ศาล
79. การจัดตั้งศาลจะต้องตราเป็นกฎหมายชนิดใด
ตอบ พระราชบัญญัติ (มีข้อสังเกตว่า กรณีการจัดตั้งจังหวัดก็ต้องตราเป็นพระราชบัญญัติด้วยเช่นกัน)
80. คณะกรรมการที่มีอำนาจวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหาร หรือศาลอื่นประกอบด้วยบุคคลใดบ้าง
ตอบ ประธานศาลฎีกาเป็นประธาน ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลอื่น และผู้ทรงคุณวุฒิอื่นอีกไม่เกิน 4 คนตามที่กฎหมายบัญญัติ เป็นกรรมการ
81. ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยคณะตุลาการทั้งสิ้นกี่คน
ตอบ 9 คน (อายุไม่ต่ำกว่า 45 ปี มีวาระดำรงตำแหน่ง 9 ปี ได้แค่วาระเดียว)
82. ศาล รัฐธรรมนูญประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญ 1 คน และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอื่นอีก 8 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากบุคคลที่มีคุณสมบัติใดบ้าง
ตอบ (1) ผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาโดยวิธีลงคะแนนลับ จำนวน 3 คน
(2) ตุลาการในศาลปกครองซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดโดยวิธีลงคะแนนลับ จำนวน 2 คน
(3) ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ซึ่งมีความรู้เชี่ยวชาญทางด้านนิติศาสตร์อย่างแท้จริงและได้รับเลือกตามมาตรา 206 จำนวน 2 คน
(4) ผู้ ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์ ซึ่งมีความรู้เชี่ยวชาญทางด้านการบริหารราชการแผ่นดินอย่างแท้จริงและได้ รับเลือกตามมาตรา 206 จำนวน 2 คน
(มี ข้อสังเกตว่าวุฒิสภาจะเป็นหน่วยงานที่ให้คำแนะนำแก่พระมหากษัตริย์ในการ แต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้นผู้เข้าจึงควรที่จะรู้ว่าองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญมีอะไรบ้าง ซึ่ง องค์กรอสระตามรัฐธรรมนูญ ได้แก่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ป.ป.ช.) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน คตง. )
83. องค์คณะตุลาการของศาลรัฐธรรมนูญในการนั่งพิจารณาและในการทำวินิจฉัย ต้องประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่ากี่คน
ตอบ ไม่น้อยกว่า 5 คน (การวินิจฉัยให้ถือเสียงข้างมาก)
84. ศาลยุติธรรมมีกี่ชั้น
ตอบ 3 ชั้น ได้แก่ ศาลชั้นต้น ศาลอุธรณ์ ศาลฎีกา (โดยมีสำนักงานเลขาธิการศาลยุติธรรมเป็นหน่วยงานธุรการขึ้นตรงต่อประธานศาลฎีกา)
85. ศาล ใดมีอำนาจพิจารณาและวินิจฉัยคดีที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งและการเพิกถอน สิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งวุฒิสภา
ตอบ ศาลฎีกา

86. ศาล ใดมีอำนาจพิจารณาและวินิจฉัยคดีที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งและการเพิกถอน สิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น
ตอบ ศาล อุธรณ์ (ทั้งนี้ วิธีพิจารณาและวินิจฉัยคดีให้เป็นไปตามระเบียบที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกากำหนด โดยต้องใช้ระบบไต่สวนและเป็นไปโดยรวดเร็ว)
87. ให้ มีแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา โดยองค์คณะผู้พิพากษาประกอบด้วยผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำ กว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาหรือผู้พิพากษาอาวุโสซึ่งเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่า ผู้พิพากษาศาลฎีกาจำนวนกี่คน
ตอบ 9 คน
88. ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีประเภทใด
ตอบ 1. คดี พิพาทระหว่างหน่วยงานราชการของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครอง ตามกฎหมาย หรือเนื่องมาจากดำเนินกิจการทางปกครองของหน่วยราชการ
2. คดี พิพาทระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน หรือระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกัน อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย หรือเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครอง ของหน่วยราชการ
89. หน่วยงานใดที่ทำหน้าที่ในฐานะหน่วยธุรการศาลปกครอง
ตอบ สำนักเลขาธิการศาลปกครอง (ขึ้นตรงต่อประธานศาลปกครองสูงสุด)
หมวด 11 องค์กรตามรัฐธรรมนูญ
ส่วนที่ 1 : องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ
90. คณะ กรรมการการเลือกตั้ง มีทั้งหมดกี่คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากผู้ซึ่งมีความเป็นกลางทางการเมืองและมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ ประจักษ์
ตอบ 5 คน (อายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี / มีวาระดำรงตำแหน่ง 7 ปี ได้แค่วาระเดียว)
(ข้อ สังเกต ข้อสอบอาจถามว่าบุคคลใดไม้ใช่คณะกรรมการการเลือกตั้ง ดังนั้นจึงควรต้องรู้ว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งทั้ง 5 คน มีใครบ้าง ซึ่งได้แก่ 1) นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต. และกรรมการอีก 4 คน คือ นางสดศรี สัตยธรรม นายประพันธ์ นัยโกวิท นายสมชัย จึงประเสริฐ และนายสุเมธ อุปนิสากร)
91. คณะกรรมการสรรหากรรมการเลือกตั้งมีจำนวนทั้งหมดกี่คน
ตอบ 7 คน
92. คณะกรรมการการสรรหากรรมการเลือกตั้งประกอบด้วยใครบ้าง
ตอบ 1) ประธานศาลฎีกา 2) ประธานศาลรัฐธรรมนูญ 3) ประธานศาลปกครองสูงสุด 4) ประธาน สภาผู้แทนราษฎร 5) ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร 6) บุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคัดเลือกจำนวนหนึ่งคน และ 7 ) บุคคลซึ่งประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดคัดเลือกจำนวนหนึ่งคน
93. การ สรรหาและการเลือกประธานกรรมการและกรรมการการเลือกตั้ง ให้กรรมการทำหน้าที่สรรหาผู้มีคุณสมบัติซึ่งสมควรเป็นกรรมการการเลือกตั้ง จำนวนกี่คน เสนอต่อประธานวุฒิสภาโดยเสนอความพร้อมยินยอมของผู้ได้รับการเสนอชื่อนั้น
ตอบ 3คน

94. ให้ ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาพิจารณาสรรหาผู้มีคุณสมบัติ ซึ่งสมควรเป็นกรรมการการเลือกตั้งจำนวนกี่คน เสนอต่อประธานวุฒิสภา โดยต้องเสนอความพร้อมยินยอมของผู้นั้น
ตอบ 2 คน
95. ในการที่กรรมการการเลือกตั้งพ้นจากตำแหน่งตามวาระพร้อมกันทั้งคณะให้ดำเนินการสรรหา ภายในกี่วันนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง
ตอบ 90 วัน
96. ผู้ตรวจการแผ่นดินมีจำนวนกี่คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา
ตอบ 3 คน (มีวาระดำรงตำแหน่ง 6 ปี ได้เพียงวาระเดียว) โดยมีที่มาจากการคัดสรรโดยคณะกรรมการสรรหาเช่นเดียวกันกันกับของคณะกรรมการ การเลือกตั้ง
97. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีจำนวนกี่คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา
ตอบ 9 คน (มีวาระดำรงตำแหน่ง 9 ปี ได้เพียงวาระเดียว)
98. คณะกรรมการสรรหาและคัดเลือกกรรมการป้องกันและปราบปรามมีจำนวน กี่คนประกอบด้วยใครบ้าง
ตอบ 5 คน ได้แก่ 1) ประธานศาลฎีกา 2) ประธานศาลรัฐธรรมนูญ 3) ประธานศาลปกครอง 4) ประธานสภาผู้แทนราษฎร 5) ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร (ระวังอย่าจำสับสนกับเรื่องการสรรหา กกต. และผู้ตรวจการแผ่นดิน)
99. มติ ของวุฒิสภาให้กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติพ้นจากตำแหน่ง ต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าเท่าใดของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของ วุฒิสภา
ตอบ ไม่น้อยกว่า 3 ใน 4
100. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายอย่างไร
ตอบ 1. สวนข้อเท็จจริงและสรุปสำนวนพร้อมทั้งความเห็นเกี่ยวกับการถอดถอนออกจากตำแหน่งเสนอต่อวุฒิสภา
2. ไต่สวนข้อเท็จจริงและสรุปสำนวนพร้อมทั้งความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญา ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองส่งไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่ง ทางการเมือง
3. ไต่ สวนและวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงหรือข้าราชการ ซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่ผู้อำนวยการกองหรือเทียบเท่าขึ้นไปร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม
4. กำกับดูแลคุณธรรมและจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
101. คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ประกอบด้วยคณะกรรมการทั้งหมดกี่คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา
ตอบ 7 คน (มีวาระดำรงตำแหน่ง 6 ปี ได้เพียงวาระเดียว)
102. บุคคลใดเป็นผู้บังคับบัญชาหน่วยงานดานธุรการของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งขึ้นตรงต่อประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
ตอบ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา)

ส่วนที่ 2 : องค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ
103. องค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญในหมวดที่ 11 ส่วนที่ 2 มีกี่องค์กร และมีองค์กรใดบ้าง
ตอบ 3 องค์กร ได้แก่ องค์กรอัยการ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชาแห่งชาติ และสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

104. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีจำนวนทั้งหมดกี่คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา
ตอบ 7 คน (มีวาระดำรงตำแหน่ง 7 ปี ได้เพียงวาระเดียว) โดยแต่งตั้งจากผู้ซึ่งมีความรู้หรือประสบการณ์ด้านคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของ ประชาชนที่เป็นประจักษ์ ทั้งนี้ โดยต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของผู้แทนจากองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนด้วย

105. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายอย่างไร
ตอบ 1. ตรวจ สอบและรายงานการกระทำ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือไม่เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและเสนอมาตรการแก้ไขที่เหมาะสมต่อบุคคลหรือหน่วยงาน
2. เสนอ เรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่เห็นชอบตามที่มีผู้ร้องเรียนว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกระทบต่อ สิทธิมนุษยชนและมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
3. เสนอ เรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครอง ในกรณีที่เห็นชอบตามที่มีผู้ร้องเรียนว่ากฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดในทางปกครองกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและมีปัญหาเกี่ยวกับ ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
4. ฟ้อง คดีต่อศาลยุติธรรมแทนผู้เสียหาย เมื่อได้รับการร้องขอจากผู้เสียหายและเป็นกรณีที่เห็นสมควรเพื่อแก้ไขปัญหา การละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นส่วนรวม
5. เสนอนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมาย และกฎ ต่อรัฐสภาหรือคณะรัฐมนตรีเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
6. ส่งเสริมการศึกษา การวิจัย และการเผยแพร่ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน
7. ส่งเสริมความร่วมมือและการประสานงานระหว่างหน่วยราชการ องค์การเอกชนและองค์การอื่นในด้านสิทธิมนุษยชน
8. จัดทำรายงานประจำปีเพื่อประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนภายในประเทศและเสนอต่อรัฐสภา

หมวด 12 การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
106. ผู้ ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดบ้าง มีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แห่งชาติ ทุกครั้งที่เข้ารับตำแหน่งหรือพ้นจากตำแหน่ง
ตอบ (1) นายกรัฐมนตรี
(2) รัฐมนตรี
(3) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
(4) สมาชิกวุฒสภา
(5) ข้าราชการเมืองอื่น
(6) ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นตามที่กฎหมายบัญญัติ

107. ผู้ ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามข้อ 103 มีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แห่งชาติอย่างไร
ตอบ 1. ในกรณีที่เป็นการเข้ารับตำแหน่ง ให้ยื่นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่เข้ารับตำแหน่ง
2. ในกรณีที่เป็นการพ้นจากตำแหน่ง ให้ยื่นภายใน 30 วัน นับแต่วันพ้นจากตำแหน่ง
3. ในระหว่างดำรงตำแหน่งหรือก่อนยื่นบัญชีหลังจากพ้นจากตำแหน่ง ให้ทายาทหรือผู้จัดการมรดก ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่มีอยู่ในวันที่ผู้ดำรงตำแหน่ง นั้นตายภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ผู้ดำรงตำแหน่งตาย
4. ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งพ้นจากตำแหน่ง นอกจากต้องยื่นบัญชีแล้ว ให้มีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่มีอยู่จริง ในวันครบ 1 ปี นับจากวันที่พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวอีกครั้งหนึ่งโดยยื่นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลา 1 ปีด้วย
108. ผู้ ดำรงตำแหน่งทางการเมืองผู้ใดจงใจไม่ยื่นบัญชีรายการแสดงทรัพย์สินและหนี้ สินและเอกสารปะกอบตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยความ อันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการ ทุจริตแห่งชาติเสนอเรื่องให้ใครวินิจฉัยต่อไป
ตอบ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง